พิษ“โคโรนา” ทำส่งออกไทยไปจีน Q1 ติดลบ 1 %

19 ก.พ. 2563 | 09:36 น.

เอกชนกังวลไวรัสโคโรนากระทบส่งออกยาว  ขณะที่ส่งออกไปจีนไตรมาส1 คาดติดลบ1%  แนะผู้ประกอบการไทยหาตลาดใหม่รองรับ วอนภาครัฐเร่งประชาสัมพันธ์สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน พร้อมเสนอแนวทางแก้ปัญหา ทั้งมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงิน ตั้งศูนย์คอลเซ็นเตอร์

 นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒน์พงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สรท.)   กล่าวถึงการหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ ถึงการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือไวรัสโควิค-19 ว่าได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบหนักสุด คือ ผัก ผลไม้ ผลิตภัณท์ยาง  เครื่องคอมพิวเตอร์รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ  ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  ไม้ยางพารา  กุ้ง ที่ไม่สามารถนำเข้าจีนได้  ซึ่งแม้ว่ารัฐบาลจีนจะเริ่มให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดการผลิตตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านก็ตาม แต่ก็ยังเปิดกำลังการผลิตได้ไม่เต็มศักยภาพ   เนื่องจากรัฐบาลจีนกำหนดให้ทุกคนต้องใส่หน้ากากอนามัย ทำให้ประชาชนบางส่วนของจีนยังขาดแคลนหน้ากากอนามัยในจีนอย่างหนัก  ซึ่งบางโรงงานไม่สามารถจัดหาหน้ากากอนามัยให้พนักงานได้จึงยังไม่สามารถเปิดการผลิตได้   สรท.คาดว่าในแต่ละอุตสาหกรรมอาจจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูกิจการและกลับมาผลิตได้เต็มกำลังอีก 6 เดือนหรืออาจมากกว่านั้น  นอกจากนี้ในส่วนการนำเข้าวัตถุดิบจากจีนในบางอุตสาหกรรมก็ต้องหยุดชะงักไปหมดทำให้ไม่มีวัตถุดิบสำหรับการผลิตและส่งออกไปยังตลาดอื่นทดแทน

พิษ“โคโรนา” ทำส่งออกไทยไปจีน Q1 ติดลบ 1 %

  “ผลกระทบการที่ส่งออกไม่ได้ ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่มีรายได้เข้ามา ซึ่งสรท.คาดว่าจะทำให้การส่งออกของไทยไปจีนในไตรมาสแรกประมาณ 1% หรือมูลค่า 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนจะปรับเป้าส่งออกทั้งปีหรือไม่นั้น คงต้องรอดูสถานการณ์ว่ากระทบแค่ไหน ซึ่งมั่นใจว่าน่าจะกระทบระยะสั้น 6 เดือน แต่ถ้ามากกว่า 6 เดือนน่าจะต้องมีการหารือกันอีกครั้ง ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจะต้องปรับตัวหาตลาดใหม่หรือหาวัตถุดิบมารองรับหลังจากที่นำเข้าจากจีนไม่ได้ ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องเป็นผู้หาตลาดให้เอกชนด้วย แต่ทั้งนี้เดอกชนมองว่ารัฐบาลยังขาดการประชาสัมพันธ์ในการสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน”

พิษ“โคโรนา” ทำส่งออกไทยไปจีน Q1 ติดลบ 1 %

ทั้งนี้  ทางสรท.มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลคือ ด้านมาตรการช่วยเหลือทางด้านการเงิน เช่น  ขอการสนับสนุนพักการชำระหนี้ธนาคารและดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมเป็นระยะเวลา 12 เดือน ขอระยะเวลาการชำระคืนเงินสินเชื่อเพื่อการส่งออกเป็นเวลา 12 เดือน  เป็นต้น ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ขอจัดให้มี คอลเซ็นเตอร์เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสอบถามและรายงานสถานการณ์ปัจจุบัน เร่งรัดและเพิ่มความถี่ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มโอกาสในการหาตลาดทดแทนอื่น

 

ด้านนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ประธานการประชุมคณะทำงานวอร์รูม (War Room) เพื่อประเมินสถานการณ์และหารือมาตรการรองรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา(โควิด-19) (เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563) ณ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า เป็นไปตามนโยบายของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่ต้องการให้กระทรวงฯ มีข้อเสนอแนะร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เนื่องจากสถานการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อการค้าการส่งออกของไทย ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้ส่งออกโดยตรง

พิษ“โคโรนา” ทำส่งออกไทยไปจีน Q1 ติดลบ 1 %

                                          บุณยฤทธิ์  กัลยาณมิตร

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์ได้นำเสนอผลกระทบใน 4 ด้านหลัก คือ (1) ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่เกิดจากการชะลอตัวของจีน (2) ผลกระทบด้านซัพพลายเชนในภาคอุตสาหกรรม (3) ผลกระทบด้านโลจิสติกส์ต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย และ (4) ผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจการค้าในประเทศ และเสนอมาตรการต่าง ๆ เบื้องต้น ซึ่งที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อมูลด้านผลกระทบและมาตรการรองรับเพิ่มเติมในรายละเอียด โดยประเด็นหนึ่งที่ทุกคนเห็นพ้องกันในเรื่องความสำคัญ คือ การสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในไทยเองและนักท่องเที่ยวและลูกค้าในประเทศต่าง ๆ และการให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อสาธารณชนอย่างต่อเนื่อง ในส่วนด้านมาตรการรองรับก็มีการนำเสนอแนวคิดต่าง ๆ หลายมาตรการทั้งสำหรับการส่งออกและการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

พิษ“โคโรนา” ทำส่งออกไทยไปจีน Q1 ติดลบ 1 %

สำหรับการส่งออกนั้น ที่ประชุมเน้นไปที่การค้าขายกับประเทศจีนเป็นหลัก เนื่องจากเป็นตลาดสำคัญที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยต่างเห็นว่า ในระยะสั้นมีการ disrupt จากปัญหาการขนส่งและมาตรการจำกัดต่าง ๆ ของจีนแน่นอน แต่ในระยะต่อไปน่าจะมีโอกาสในการกลับมาส่งออกสินค้าไปจีนเพิ่มขึ้นจากความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคของจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากสถานการณ์ไวรัสคลี่คลาย ซึ่งภาครัฐควรเตรียมตัวดูจุดที่อาจเป็นปัญหาได้ เช่น คอนเทนเนอร์ขนส่งอาจไม่เพียงพอ ช่องทางการส่งออกที่อาจต้องขยายทางอากาศ การขอผ่อนผันกฎระเบียบบางอย่างกันจีนในระยะนี้ เป็นต้น 

ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า จะรวมรวมมาตรการรองรับผลกระทบที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเสนอในวันนี้ ต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) พิจารณาต่อไป เนื่องจากหลายมาตรการที่มีการนำเสนอในวันนี้จำเป็นต้องมีการทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และน่าจะมีการประชุมวอร์รูมอีกเป็นระยะ ๆ เพื่อติดตามความเปลี่ยนแปลงและเสนอความเห็นเพิ่มเติม

หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ ได้แก่ ทุกกรมในกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย คณะกรรมการ กกร. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ SMEs สมาคมธุรกิจไทยท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย และสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต