ชุมชนเฮ เงินสะพัด 1.4แสนล้าน

20 ก.พ. 2563 | 05:25 น.

เปิดแผนพีดีพีฉบับใหม่ 5 ปี หนุนตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน 1,933 เมกะวัตต์ เงินลงทุนกว่า 1.4 แสนล้าน เพิ่มหญ้าเนเปียร์ผลิตไฟฟ้า 600 เมกะวัตต์ มี.ค.นี้ประเดิมรับซื้อไฟกลุ่ม Quick win 100 เมกะวัตต์

 

มีความชัดเจนแล้วสำหรับการปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือพีดีพีฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้เปิดรับฟังความคิดเห็นไปเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ที่เน้นการปรับแผนการผลิตไฟฟ้าในส่วนของการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นหลัก

โดยเฉพาะการนำนโยบายส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากของนายสนธิรัตน์ สนธิ-จิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เข้าไปบรรจุอยู่ในแผนถึง 1,933 เมกะวัตต์ โดยจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเดือนมีนาคมนี้

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า การปรับปรุงแผนพีดีพีครั้งนี้ ได้นำนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก กำลังผลิตรวม 1,933 เมกะวัตต์ มาบรรจุไว้ และไปปรับเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในบางประเภทเชื้อเพลิงลงมา เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ จากเดิม 1 หมื่นเมกะวัตต์ เหลือ 8,740 เมกะวัตต์ ปรับเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังนํ้าขนาดเล็กของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใน 24 โครงการ กำลังผลิต 69 เมกะวัตต์ จากแผนเดิมที่ไม่มีการบรรจุไว้ และเพิ่มเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน เป็นต้น

อีกทั้ง จะชะลอโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลภาคใต้จากเดิมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564-2565 ปีละ 60 เมกะวัตต์ ให้เลื่อนออกไปเป็นปี 2565-2566 ปีละ 60 เมกะวัตต์ และเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลม จากเดิมรับซื้อในปี 2577 เป็นรับซื้อเร็วขึ้นในปี 2565

นายเรืองเดช ปั่นด้วงผู้อำนวย การกองวิจัย ค้นคว้าพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เปิดเผยว่า สำหรับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก(AEDP) นั้น ยังคงเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนไว้ที่ 18,696 เมกะวัตต์ ซึ่งได้มีการเกลี่ยปรับลดหรือปรับเพิ่มประเภทเชื้อเพลิง อย่างพลังงานแสงอาทิตย์จากเดิม 1 หมื่นเมกะวัตต์ ลดลงเหลือ 8,740 เมกะวัตต์ ชีวมวลจากเดิม 3,376 เมกะวัตต์ ลดลงเหลือ 2,780 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพจากเดิม 546 เมกะวัตต์ ลดลงเหลือ 400 เมกะวัตต์ และเพิ่มพลังงานนํ้าขนาดเล็กของกฟผ. เข้ามา 69 เมกะวัตต์

อีกทั้ง ได้ชะลอโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐภาคใต้ จากเดิมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564-2565 ปีละ 60 เมกะวัตต์ เป็นในปี 2565-2566 รวม 120 เมกะวัตต์ และจะเร่งรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมเร็วขึ้นจากเดิมจะเริ่มรับซื้อในปี 2577 เป็นในปี 2565 รวม 1,485 เมกะวัตต์ เมื่อสิ้นสุดแผนปี 2580 อีกทั้ง จะชะลอการปรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์ภาคประชาชน จากแผนเดิมที่กำหนดซื้อปีละ 100 เมกะวัตต์ เหลือเพียงปีละ 50 เมกะวัตต์

ขณะที่โรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากนั้น ขนาดกำลังผลิต 1,933 เมกะวัตต์ ที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบช่วงปี 2563-2567 นั้น จะก่อให้เกิดการลงทุนราว 1.42 แสนล้านบาท โดยประเมินจากการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไฮบริด เมกะวัตต์ละ 27 ล้านบาท ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน เมกะวัตต์ละ 100 ล้านบาท ก๊าซชีวภาพจากนํ้าเสียหรือของเสีย เมกะวัตต์ละ 126 ล้านบาท และชีวมวล เมกะวัตต์ละ 75 ล้านบาท

ชุมชนเฮ  เงินสะพัด  1.4แสนล้าน

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เปิดเผยว่า นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะประกาศหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ เพื่อให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศหลักเกณฑ์ ให้ชุมชนและเอกชนยื่นเสนอขายไฟฟ้าในส่วนของโรงไฟฟ้าชุมชนกลุ่ม Quick win ไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ภายในเดือนมีนาคมนี้เช่นกัน และคาดว่าจะได้ผู้ชนะไม่เกินเดือนมิถุนายน 2563 โดยราคารับซื้อหญ้าเนเปียร์ป้อนโรงไฟฟ้าชุมชนจะอยู่ที่ 300-600 บาทต่อตัน ขณะที่ไม้สับอยู่ที่ 1,200 บาทต่อตัน ส่วนเชื้อเพลิงอื่นๆ ขึ้นกับราคาตลาด

หน้า 1  ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,550 วันที่ 20 - 22 กุมภาพันธ์ 2563