คำต่อคำ "วิษณุ" คาใจ "กทพ." สู้คดี BEM

18 ก.พ. 2563 | 13:15 น.

คำต่อคำ "วิษณุ" คาใจ "กทพ." สู้คดี BEM

 

มติคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 18 ก.พ. 63 มีมติเห็นชอบยุติข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) กับ บริษัททางด่วน BEM โดยยอมแก้ไขสัญญาตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจแก้ไขแล้วก่อนที่สัญญาเดิมจะหมดวันที่ 28 ก.พ.  ยอมยุติข้อพิพาทครั้งนี้ BEM จะได้รับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนออกไปอีก 15 ปี 8 เดือน 

การแถลงมติครม.เรื่องนี้ ใช้เวลาในการแถลงนานประมาณ 1 ชั่วโมง จากการใช้เวลาประชุมพิจารณาวาระนี้วาระเดียวนานกว่า 2 ชั่วโมง 

แต่ในการแถลงข่าวน่าสนใจว่า บางช่วง “นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี” ชี้ให้เห็นวิธีการสู้คดีของ “การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)” กับ บริษัท BEM  ซึ่งเริ่มต้นนายวิษณุชี้ให้เห็นว่า ถ้าครม.ไม่มีมติอะไรออกมาในวันนี้ก็คงจะมีข้อพิพาทกันไปอีกนาน

“ครม.จึงทำให้มันจบสิ้นโดยสิ้นเชิง ให้เรื่องอดีต ปัจจุบัน อนาคต 17 เรื่องจบลง ถ้าไม่จบก่อน 28 ก.พ. 63 ก็จะเกิดโกลาหล อลหม่านวุ่นวายขึ้นอีก นายกรัฐมนตรีจึงให้ผมมาช่วยแถลงเรื่องนี้หน่อย เพราะเรื่องนี้สลับซับซ้อนมีคำถามเยอะ ครม.ใช้เวลาพิจารณานานถึง 2 ชั่วโมง จะให้แถลงสั้นๆก็คงไม่ได้”

นายวิษณุ เล่าว่า เรื่องนี้มีตำนานมายาวนานยิ่งกว่ารามเกียรติ์เพราะปีนี้ 2563 แต่เรื่องนี้ย้อนไปปี 2533 พิพาทกันมาโดยตลอด ซึ่งกระทรวงคมนาคมนำสัญญาสัมปทานทางด่วนเข้าครม. เพื่อแก้ไขสัญญา 2 สัญญา ที่ครอบคลุมเส้นทาง ฉบับแรก ครอบคลุมทางด่วนสาย A รัชดา-พระราม 9 สาย B พญาไท-บางโคล่  สาย D แจ้งวัฒนะ – รัชดา  ฉบับต่อมาเพิ่มอยู่ในฉบับแรกแต่ทำคนละเวลาเรียกว่า สาย D จึงกลายเป็นสัญญา A B C D สัญญาที่สอง คือ สัญญา C+ บางปะอิน-ปากเกร็ด 

คำต่อคำ "วิษณุ" คาใจ "กทพ." สู้คดี BEM

สัญญาสองฉบับ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2533 ทั้งที่ความจริงเริ่มไม่พร้อมกัน แต่สัญญาที่เก่าสุดจะหมดสัญญา 28 ก.พ. 63 ซึ่งครบ 30 ปี พอดีเป๊ะ แปลว่าเมื่อถึง 28 ก.พ. 63 ทางด่วนสาย A B C D ที่หมดอายุต้องส่งกลับคืนให้ กทพ.   กทพ.จะต้องไปดำเนินการเอง เก็บเงินเอง ดูแลเอง รักษาเอง คือเป็นเจ้าของโดยสมบูรณ์ ซึ่งความจริงกทพ.เป็นเจ้าของมาตั้งแต่ต้น แต่ให้สัมปทานเอกชนไปดำเนินการ ซึ่งเอกชนเปลี่ยนไปหลายชื่อสุดท้ายเปลี่ยนมาชื่อ BEM  ส่วนสาย D กับ C+  ยังไม่หมดสัญญา

“สัญญาเหล่านี้มีปัญหาพิพาทกันมาตลอดระหว่าง BEM กับ กทพ. ใครถูกใครผิดผมไม่ทราบแล้วเราก็ไม่ได้สนใจในเรื่องนี้ แต่ยึดข้อมูลดังนี้ว่า เขาทะเลาะกันเรื่องอะไร”

 เขาทะเลาะกันเรื่องใหญ่ๆ2-3 เรื่อง  เรื่องแรกในสัญญาเขาเขียนเอาไว้ว่า “ตลอดอายุสัญญาห้ามรัฐ ก็คือกทพ. สร้างทางแข่งขัน” เพราะถ้าสร้างแข่งขันรายได้ก็ถูกแบ่งไปอยู่ที่ทางแข่งขัน เขามีรายได้น้อยลง คำว่าห้าม ไม่ได้เขียนถึงขนาดว่าห้าม รัฐจะสร้างก็ได้เป็นสิทธิเสรีภาพของรัฐ แต่ถ้าถ้าสร้างทางแข่งขันเมื่อไรแล้วเขาขาดทุน เอารายได้มาเทียบกันก่อนมีการแข่งขันกับหลังมีการแข่งขัน “รัฐต้องชดเชยให้เขาเป็นเงิน หรือจะเป็นอะไรก็แล้วแต่” นี่เป็นสัญญา ย้ำอีกทีว่าไม่ได้ห้ามสร้าง แต่ถ้าสร้างเขาเสียหายต้องชดเชย 

อันนี้เป็นความเป็นธรรมเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มาถึงวันนี้เราก็ไม่ควรจะเขียนอย่างนั้น เขียนมาแล้วก็ไม่รู้จะว่ายังไง

“ปรากฏในความเป็นจริงต่อมาว่ารัฐไปสร้างทางแข่งขันขึ้น ในสมัยรัฐบาลไหนอะไรก็ชั่ง ไมได้เป็นความผิดที่รัฐบาลหรอก เรียนแล้วว่าไม่ได้ห้ามสร้างทางแข่งขันแต่ช่วยชดเชย  มันผิดตรงที่สร้างแล้วไม่ชดเชย เขาแสดงหลักฐานมาตลอดว่าเขาขาดทุน เขาขาดรายได้ แต่ว่าไม่ชดเชย แต่ว่าทำไมไม่ชดเชยก็ต้องไปตรวจสอบอีกเรื่องหนึ่ง”

คำต่อคำ "วิษณุ" คาใจ "กทพ." สู้คดี BEM

เขาก็เลยต้องดำเนินคดี ในส่วนนี้ก็คือว่าจะต้องนำเรื่องนี้เข้าสู่ “อนุญาโตตุลาการ” ที่มีการแบ่งเป็นขั้นที 1 ที่จะไกล่เกลี่ย ประณีประนอมกันก่อน ถ้าจบก็จบ ถ้าไม่จบก็เข้าสู่การตั้งอนุญาโตสืบพยานว่ากันเหมือนศาล แล้วเมื่อตัดสิทธิ์ใครแพ้ชนะจบก็จบ จบคือจ่าย ถ้าไม่จบก็ไปศาลกันต่อ นี่คือขั้นตอน 

“การไกล่เกลี่ยก็ไม่ใช่เปิดร้านอาหารมานั่งไกล่เกลี่ยกันเอง ไม่ใช่ สำนักงานอนุญาโตตุลาการจะตั้งคณะไกล่เกลี่ยเรียกว่า คณะผู้พิจารณา ได้รับรายงานว่าประธานคืออัยการสูงสุด ท่านเข็มชัย ชุติวงศ์ อัยการสูงสุด เป็นประธานในการไกล่เกลี่ยทุกคดีที่มีแล้วเข้าสู่อนุญาโต ถ้าจบก็จบ ถ้าไม่จบก็ไปศาล 

และ 30 ปีที่ผ่านมามีเรื่องทะเลาะกันอีกเรื่อง คือเรื่องส่วนแบ่งรายได้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คิดคำนวนราคา มีวงรอบกี่ปีที่ต้องปรับราคา เมื่อถึงเวลาไม่ยอมให้เขาปรับเขาจึงร้องว่าผิดสัญญา เรื่องก็เข้าสู่คณะผู้ไกล่เกลี่ยเหมือนกัน ไปอนุญาโตเหมือนกัน จบก็จบ ไม่จบก็ไปศาลเหมือนกัน รวมแล้วเป็น 2 กลุ่มคดีใหญ่ๆ 

“แล้วถ้าไม่จบในวันนี้ก็ยังจะทะเลาะกันต่อไปตลอดไม่รู้จบไม่รู้สิ้น ผลจากการทะเลาะเกิดเป็นคดีขึ้นระหว่าง กทพ.กับ BEM 17 คดีขณะนี้ แล้วใน 17 คดี ปรากฏว่าได้มีคดีซึ่ง BEM ฟ้อง เข้าสู่ไกล่เกลี่ยแล้วไม่สำเร็จ อนุญาโตตัดสินให้ BEM ชนะ กทพ.ไม่ยอม จนกระทั่งไปถึงศาลปกครอง ได้มีคำตัดสิน 3 คดีให้ กทพ.แพ้หมดทั้ง 3 คดี”

คดีแรกที่แพ้ คือ คดีที่ได้ตัดสินตั้งแต่ปี 2561 สมัยประยุทธ์ 1 รมว.คมนาคมวันนั้นไม่ใช่นายศักดิ์สยาม ตอนนั้นนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เป็นรมว.คมนาคม ท่านก็ตื่นเต้นตกใจ นำเรื่องเข้าครม.ว่ากทพ.แพ้ไปแล้ว 1 คดี เป็นเงินที่กทพ.ต้องควักจ่าย 1.7 พันล้านโดยประมาณ และเพราะคำตัดสินมีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ควรจะจ่ายแล้วไม่จ่ายจึงบวกดอกเบี้ยจนถึงวันที่ นายอาคมรายงานครม. เป็นเงินประมาณ 4.3 พันล้านบาท สำหรับคดีเดียว

“วันนั้นผมอยู่ในครม.ท่านนายกยังถามทีเล่นทีจริงว่า แล้วเมื่อแพ้เขาแล้วต้องจ่ายเขาใช่ไหม ผมบอกว่าใช่ แล้วจะเอาเงินที่ไหนมาจ่าย กทพ.ก็ยิ้มแย้มแจ่มใส ทำท่าเอาเงินงบประมาณแผ่นดิน เอาเงินจากครม. ครม.บอกว่าไม่ได้ต้องเอาเงินของกทพ.เอง รายได้มีอยู่ คุณแพ้คุณก็ต้องไปจ่าย ครม.ไม่ได้รู้เรื่องรู้ราวด้วย คุณควรจะต้องจ่ายเงินเขาตั้งแต่สร้างทางแข่งขันแล้วคุณไม่จ่าย เมื่อไม่จ่ายคุณก็ต้องไปรับผิดชอบ ครม.ไม่ได้เป็นคนสั่งให้จ่าย ปรากฏว่าไม่จ่ายกันเอง แล้วอยู่มาก็แพ้คดีที่ 2 และคดีที่ 3 อีก รวมเป็นเงินทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นล้าน รวมดอกเบี้ยแล้ว”

แต่ก็ยังมีอีกประเภทหนึ่งที่เป็นคดีเข้าสู่คณะไกล่เกลี่ยแล้วไม่สำเร็จ เลยไปอนุญาโตตุลาการ อนุญาโตตุลาการตัดสินแล้วแต่ยังไม่ไปศาล ยังรอดูท่าทีของกทพ.จะยอมควักจ่ายดีดีหรือไม่ ถ้าไม่ดีก็ไปศาล ดังนั้นคือแพ้ในชั้นอนุญาโตตุลาการอีก 2 คดี รวมเป็นหมื่นล้านเหมือนกัน 

และอีกคดีที่ BEM ฟ้องกทพ.เพื่อจะเรียกเงินจำนวนหนึ่งไม่กี่ร้อยล้านบาท ปรากฏอนุญาโตตัดสินให้ BEM ชนะ แล้วกทพ.ก็ไม่จ่ายอยู่ดี เมื่อไม่จ่ายเขาก็ไปฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองชั้นต้นก็ยังตัดสินให้ BEMชนะ แต่เมื่อขึ้นศาลปกครองสูงสุดตัดสินให้ BEM แพ้  ก็แปลว่า กทพ.ชนะ 1 คดี แต่ไม่ใช่ว่ากทพ.ได้เงินคืนมา เพียงแต่ไม่ต้องจ่ายเงินให้ BEM 491 ล้านบาทเท่านั้น 

 เพราะฉะนั้นยังมีคดีที่พิพาทกันอยู่อีก 11 คดีเหลืออยู่ ที่เคลื่อนเข้าไปอยู่ในอนุญาโตตุลาการ เลยขั้นตอนของการไกล่เกลี่ยแล้ว ไกล่เกลี่ยกันแล้วไม่สำเร็จ จึงไปทะเลาะกันในอนุญาโต ก็คงจะไปอีกสักระยะหนึ่ง

ฉะนั้นจึงจะมี 17 คดี ถ้าไม่ทำอะไรในวันนี้ก็จะยืดยาวไปกันไปยาวนาน คดีเก่าก็มี คดีใหม่ก็มี เพราะถึงวงรอบแล้วเมื่อไรรัฐจะไปสร้างทางแข่งขัน เกิดปัญหาทะเลาะกันอย่างนี้ กทพ.ก็กลุ้มใจมานานแล้ว แล้วก็รู้สถานะ  ซึ่งกทพ.ให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปศึกษา ก็คาดว่าคดีสุดท้ายจะตัดสินใจปี 2578 อีก 15 ปีข้างหน้า แต่ไม่รู้ใครจะแพ้ชนะ แล้วตอนนั้นทุนทรัพย์พิพาทวงเงินที่จะต้องได้เสียกันจะมากถึง 3 แสนล้านบาทพร้อมดอกเบี้ย แล้วก็ไม่นิ่งด้วย

 “จึงเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เมื่อตัดสินคดีแรก กระทรวงคมนาคมตื่นเต้นตกใจจึงเสนอครม. 2 ตุลาคม 2561 ขออนุญาตไปเจรจา ครม.จึงให้ไปเจรจา โดยนำคดีทั้งหมดมาเจรจา โดยใช้คำว่า คดีในชั้นอนุญาโตและคดีในชั้นศาล เอาทั้งหมดยกขึ้นตาชั่ง ถ้าเลือกมาบางคดีใครเขาจะยอมมาเจรจากับคุณ ต่อให้เขายอม วันหนึ่งคดีใหม่ก็จะเกิดขึ้น แล้วไม่จบ ดังนั้นต้องทำให้มัน เซ็ตซีโร่ในเรื่องนี้”