พรีไซซระดมทุนพันล้าน ลุยธุรกิจไฟฟ้าโต

16 ก.พ. 2563 | 09:00 น.

พรีไซซคอร์ปอเรชั่น จ่อระดมทุนเกือบ 1 พันล้าน ขายหุ้นในตลาดปลายปีนี้ ตั้งโรงงานผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าที่กัมพูชา และเพิ่มกำลังการผลิตสวิตช์บอร์ด และสวิตช์เกียร์ รวม 300 ล้านบาท พร้อมลุยงานตามแผนพีดีพี และงานพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าของกฟน.และกฟภ.มูลค่ากว่า 1.6 แสนล้านบาท

บริษัท พรีไซซ คอร์- ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจด้านไฟฟ้าและพลังงานอย่างครบวงจรครอบคลุม ทั้งเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าคุณภาพ การบริหารโครงการรับเหมาก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าและสถานีไฟฟ้าแรงสูง พร้อมผลิตติดตั้งระบบควบคุมไฟฟ้าอัจฉริยะ การพัฒนาโรงไฟฟ้า มาร่วม 37 ปี ภายใต้การถือหุ้นบริษัทอื่น (Holding Company) ใน 6 กลุ่มธุรกิจ ถึงวันนี้พร้อมที่จะขยายงานอย่างต่อเนื่อง โดยการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายในปลายปีนี้หรืออย่างช้าปี 2564

นายวิทูร เจียมจิตต์ตรง กรรมการบริหาร บริษัท พรีไซซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท พรีไซซ อีเลคตริค แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัดหรือ PEM เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ และหนังสือชี้ชวน (Filing) กับคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้ว และอยู่ระหว่างการปรับปรุงรายละเอียดข้อมูลอยู่ หากเป็นไปตามแผนคาดว่าจะเสนอขายหุ้นได้ราวปลายปีนี้หรือช้าสุดไม่เกินต้นปี 2564 คิดเป็นมูลค่าการระดมทุนครั้งนี้เกือบ 1 พันล้านบาท

พรีไซซระดมทุนพันล้าน ลุยธุรกิจไฟฟ้าโต

ทั้งนี้ การระดมทุนดังกล่าว เพื่อนำไปใช้เป็นเงินลงทุนในกลุ่มบริษัท ที่มีทั้งโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา และโครงการในอนาคตอื่น ๆ ได้แก่ โครงการพัฒนาออกแบบและผลิตหม้อแปลงระบบจำหน่ายแบบ TriO Core และเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้าระบบจำหน่ายโครงการเพิ่มกำลังการผลิตสำหรับตู้สวิตช์บอร์ด และสวิตช์เกียร์สำหรับตลาดลูกค้าเอกชนโครงการพัฒนาโรงงานในส่วนที่ผลิตงานโลหะให้เป็น Factory 4.0 และเพื่อนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินงาน และเพื่อวัตถุประสงค์ทั่วไปของบริษัท เป็นต้น

“บริษัท PEM ซึ่งเป็นบริษัทย่อย สร้างรายได้หลักให้กับกลุ่มบริษัท ซึ่งประกอบธุรกิจ ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้าในระบบจำหน่ายออกแบบและบริหารโครงการรับเหมา ติดตั้ง ก่อสร้างระบบจำหน่าย ระบบไฟฟ้าใต้ดิน และก่อสร้างสถานีไฟฟ้าขนาดแรงดัน 69 -115 kV รวมถึงงานบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้า งานบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าแบบครบวงจร และงานซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า รองรับอุตสาหกรรมระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ มีแผนที่จะไปลงทุนผลิตหม้อแปลงในกัมพูชา ใช้เงินลงทุนราว 150 ล้านบาท ตั้งเป้ายอดขายไว้ราว 160 ล้านบาทต่อปี และยังลงทุนในส่วนของการขยายกำลังผลิตหม้อแปลง และผลิตภัณฑ์ตู้สวิตช์บอร์ด ตู้สวิตช์เกียร์ในประเทศอีกราว 150 ล้านบาท อีกส่วนนำไปชำระหนี้ เป็นต้น”

ทั้งนี้ ยังไม่รวมการลงทุนในส่วนของบริษัทย่อยต่างๆ อีก ในกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าที่มีแผนจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้น ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 250 เมกะวัตต์ ภายในปี 2571 จากปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนอยู่ที่ราว 13.2 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลาไบโอแมส กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลสงขลาไบโอเพาเวอร์ กำลังผลิต 9.9 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้า นํ้าซ้อ ไฮโดรเพาเวอร์ ในสปป.ลาว กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์ ซึ่งมีแผนจะเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มเติมอีก เป็นต้น

สำหรับการขยายการลงทุนของกลุ่มบริษัททั้งในและต่างประเทศนั้น เนื่องจากเห็นช่องทางธุรกิจที่ยังเปิดกว้างอีกมาก โดยเฉพาะการรองรับกำลังการผลิตไฟฟ้า ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพีของประเทศไทย ที่จะมีกำลังผลิตใหม่เข้ามาอีกกว่า 5 หมื่นเมกะวัตต์ อีกทั้ง รองรับโครงการพัฒนาระบบส่งและจำหน่าย ระยะที่ 2 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถึงปี 2566 ที่ใช้เงินลงทุน 77,620 ล้านบาท และแผนปรับปรุงและขยายระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า ฉบับที่ 12 (2560 - 2564) ของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ที่ใช้เงินลงทุนอีก 84,804 ล้านบาท จะช่วยสร้างรายได้ให้กับกลุ่มบริษัทได้ ขณะที่ตลาดเพื่อนบ้านการใช้ไฟฟ้าเติบโตต่อเนื่องเช่นกัน จากจีดีพี ที่ขยายตัว 6-7%ต่อปี

ทั้งนี้ บริษัทได้ตั้งเป้าหมายทั้งกลุ่มในแต่ละปี จะมีรายได้เติบโตราว 6-7 % จากปี 2562 มีรายได้ ราว 4 พันล้านบาท เป็นรายได้ที่มาจากการขายอุปกรณ์ต่างๆ ถึง 2.5 พันล้านบาท ซึ่งภายในปี 2565 เฉพาะบริษัท PEM ตั้งเป้าหมายในการขายเฉพาะหม้อแปลงไฟฟ้า
จะเพิ่มเป็น 1 พันล้านบาท จากปี 2562 มีรายได้รวม 1.5 พันล้านบาท

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,549 วันที่ 16 - 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

พรีไซซระดมทุนพันล้าน ลุยธุรกิจไฟฟ้าโต