ปรับพีดีพีใหม่ แจ้งเกิดเนเปียร์200MW

15 ก.พ. 2563 | 07:30 น.

พพ.เร่งหารือ “สนธิรัตน์” สรุปแผนพัฒนาพลังงานทดแทน บรรจุในพีดีพีปรับปรุงใหม่ ยันเป้าหมายผลิตไฟฟ้ายึดปริมาณเดิม 1.8 หมื่นเมกะวัตต์ แต่ปรับให้เข้าระบบเร็วขึ้น และเกลี่ยกำลังผลิตให้โรงไฟฟ้าชุมชน 700 เมกะวัตต์ เพิ่มเชื้อเพลิงหญ้าเนเปียร์ ชงกพช.พิจารณามีนาคมนี้

เริ่มเห็นความชัดเจนของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือพีดีพี 2018 ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงใหม่ ที่คาดว่าจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในช่วงเดือนมีนาคม 2563 นี้ ที่มุ่งเน้นการปรับปรุงในส่วนของการพัฒนาพลังงานทดแทนเป็นหลัก เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่จะไปส่งเสริมการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นหลัก

ล่าสุดทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กำลังอยู่ระหว่างหารือกับนายสนธิรัตน์ อีกครั้ง ก่อนจะได้ข้อสรุปที่แน่ชัด และนำเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ให้ได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 นี้

ปรับพีดีพีใหม่ แจ้งเกิดเนเปียร์200MW

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางพพ.ได้รายงานการปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานทดแทน ให้กระทรวงพลังงานรับทราบเบื้องต้น แล้ว โดยภาพรวมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนที่เป็นกำลังการผลิตใหม่เมื่อสิ้นแผนปี 2580 จะอยู่ที่ 18,176 เมกะวัตต์ ซึ่งยังเป็นตัวเลขเดิมของแผนการพัฒนา

แต่ที่มีการปรับปรุงใหม่ จะมีนโยบายส่งเสริมตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ขนาดกำลังผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้ามาเป็นตัวแปร เช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม 1,485 เมกะวัตต์ จากเดิมที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในช่วงท้ายของแผนหรือปี 2577 เป็นต้น อาจจะปรับใหม่ให้ดำเนินการได้เร็วขึ้นช่วงต้นแผน

ขณะที่การผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล กำหนดเป้าหมายไว้ 3,496 เมกะวัตต์ ที่จะเริ่มจ่ายไฟฟ้าในปี 2564 จะมีการปรับให้จ่ายไฟฟ้าเร็วขึ้นมาในปี 2563 จากการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชนประมาณ 200 เมกะวัตต์ การผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพเป้าหมายกำลังผลิตที่ 546 เมกะวัตต์ เดิมจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2565 จะปรับให้จ่ายไฟฟ้าเร็วขึ้นเป็นปี 2563 จากการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ขนาดกำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นการผลิตจากน้ำเสียหรือของเสีย 100 เมกะวัตต์ และเพิ่มประเภทเชื้อเพลิงจากหญ้าเนเปียร์อีก 200 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ จะไปลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ของโครงการโซลาร์ภาคประชาชนขนาดกำลังผลิต 1 หมื่นเมกะวัตต์ ลงมา เหลือราว 9,800 เมกะวัตต์ เพื่อนำไป ส่งเสริมตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน ขนาดกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นไฮบริดร่วมกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ ในสัดส่วนไม่เกิน 40% ของกำลังการผลิตในแต่ละโครงการและต้องอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน

สำหรับในส่วนของโครงการโซลาร์ภาคประชาชนนั้นจะต้องหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกครั้งว่า ท้ายสุดแล้ว จะให้เหลือกำลังการผลิตไฟฟ้าเท่าใด เนื่องจากการดำเนินงานที่ผ่านมามีความล่าช้า และไม่เป็นไปตามเป้าหมายในการส่งเสริมให้บ้านอยู่อาศัยผลิตไฟฟ้าใช้เอง และเหลือส่งขายเข้าระบบ ซึ่งปัจจุบันมีผู้เข้าร่วมโครงการที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพียง 20 ราย กำลังผลิต 128.9 กิโลวัตต์ เท่านั้น จากเป้าหมายที่กำหนดไว้ปีละ 1แสนกิโลวัตต์

ขณะที่โครงการบริการจัดการพลังงานไฟฟ้าแบบครบวงจรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งมีการส่งเสริมโรงไฟฟ้าชุมชน ขนาดกำลังผลิตไม่เกิน 1.5-2 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิต 200 เมกะวัตต์นั้น ได้นำมาบรรจุอยู่ในแผนที่ปรับใหม่แล้ว แต่จะเป็นคนละส่วนกับที่มีการอนุมัติไป 700 เมกะวัตต์ เนื่องจากการลงทุนดำเนินงานในลักษณะที่แตกต่างกัน

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,548 วันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563

ปรับพีดีพีใหม่ แจ้งเกิดเนเปียร์200MW