จี้รัฐรับมือเบร็กซิท เร่งถกFTAอังกฤษ 12ประเทศจ่อคิว

14 ก.พ. 2563 | 03:30 น.

นักวิชาการ-เอกชนติวเข้มรัฐเร่งมาตรการเชิงรุก แบ่งเค้กตลาดอังกฤษหลังเบร็กซิท จี้จองคิวทำเอฟทีเอกับเมืองผู้ดี หลังกว่า 12 ประเทศ/กลุ่ม เข้าแถวรอ หวั่นช้าเสร็จเวียดนาม แนะเร่งวิเคราะห์หาช่องเสียบสินค้าไทยแทน 4 คู่ค้าหลัก

จากที่สหราชอาณาจักร (อังกฤษหรือ UK) ได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2563 นับจากนี้ไปอีก 11 เดือนหรือจนถึงสิ้นปี 2563 จะเป็นช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องเร่งเจรจาจัดทำความตกลงกันในทุกด้านเพื่อให้การดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันไม่สะดุดเมื่ออังกฤษออกจากอียูอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2564 คำถามตามมาคือเบร็กซิทครั้งนี้จะมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง และเราต้องเตรียมตัวอย่างไร

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน 11 เดือนนับจากนี้ไปจะไม่มีผลกระทบทางลบต่อการส่งออกและการลงทุนไทยไปอังกฤษ และอียู เพราะอังกฤษยังต้องใช้ “Custom Union” และ “Single Market” ของอียูอยู่(หมายถึงสถานะการค้า การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานยังเหมือนเดิม) แต่หลังจากปี 2564 คนอังกฤษต้องขอวีซ่าอยู่ในอียู และมีค่าใช้จ่าย ผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนทั้งจากอังกฤษและอียูจะเห็นชัดเจนในปี 2564

สิ่งที่รัฐบาลและเอกชนไทยต้องเตรียมตัวเพื่อให้ไทยคงได้รับประโยชน์ด้านต่างๆ จากอียูและอังกฤษคงเดิมหรือมากขึ้นกว่าเดิมนั้น ในมาตรการเชิงรุกมองว่ามี 5 ประเด็น ได้แก่ 1.ไทยต้องเร่งเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับอียูที่หยุดชะงักไปก่อนหน้านี้ รวมถึงแสดงความจำนงที่ต้องการทำเอฟทีเอกับอังกฤษ 2.ยกระดับการผลิตสินค้าไทยให้มีมาตรฐานสอดคล้องกับอังกฤษ

จี้รัฐรับมือเบร็กซิท  เร่งถกFTAอังกฤษ  12ประเทศจ่อคิว

 

3.อังกฤษจะมีความต้องการสินค้าและห่วงโซ่การผลิตจากต่างประเทศมากขึ้น ต้องเร่งเจรจาห่วงโซ่อุตสาห กรรมที่เปลี่ยนไปจากอียู 4.อังกฤษจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากอียูสูงขึ้นจากเดิม 0% เป็นหลายอัตรา เช่น รถยนต์จะเก็บภาษี 10% เครื่องครัว 12% เสื้อผ้า 12% เป็นต้น ขณะเดียวกันอังกฤษจะส่งสินค้าไปยังประเทศที่อียูมีข้อตกลงเอฟทีเอจะถูกเก็บภาษีสูงขึ้น(มี 71 ประเทศที่อียูทำข้อตกลงทางการค้า) เช่น ญี่ปุ่นจะเก็บภาษีชา 12% และภาษีมอลล์ 19% แคนาดา จะเก็บภาษีรถยนต์ 6.1% และยานยนต์ 25% ดังนั้นไทยต้องวิเคราะห์ว่ามีกลุ่มสินค้าใดบ้างที่อยู่ในข่ายนี้ เพื่อหาช่องทางและโอกาสในการส่งออกไปยังอังกฤษและอียู

5.ในปี 2564 อังกฤษจะเป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของยุโรป ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มจะลดลงเท่ากับหรือมากกว่ายุโรป จะส่งผลให้มีความต้องการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น เป็นโอกาสของสินค้าไทย และ 6.วิเคราะห์กลุ่มสินค้าที่อังกฤษนำเข้าจากคู่ค้าหลัก 5 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ เยอรมนี ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ และจีน เพื่อหาช่องทางส่งสินค้าไทยเข้าไปทดแทน

“ปัจจุบันมีประเทศที่คาดว่าอังกฤษจะทำเอฟทีเอด้วยมีหลายประเทศ โดยในเอเชีย ได้แก่ อินเดีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ในอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งไทยน่าจะอยู่ในลิสต์ลำดับที่ 4 ของอาเซียน ทั้งนี้ขึ้นกับการเจรจา ส่วนประเทศอื่น ๆ ได้แก่ สหรัฐฯ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อียู และกลุ่ม CPTPP”

นางสาวพิมพ์ชนกวอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กล่าวว่า อังกฤษเตรียมเจรจาความตกลงการค้ากับอียูเริ่มเดือนมีนาคมนี้ และจะพยายามเริ่มเจรจากับสหรัฐฯและญี่ปุ่นต่อไป ตั้งเป้าว่าให้เสร็จทั้งหมดในปีนี้ ซึ่งท้าทายพอสมควร สำหรับไทยคงต้องเตรียมเจรจาเช่นกัน โดยน่าจะเริ่มจากไปกระชับมิตรกับคู่ค้าในอังกฤษเพื่อหาทางขยายตลาดให้ได้มากที่สุด ซึ่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีแผนเดินทางไปอังกฤษกลางปีนี้

ขณะที่นางสาวกัณญภัค ตันติพิพัฒนพงศ์ ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศ ไทย (สรท.) กล่าวว่า ช่วงเวลา 11 เดือนที่อังกฤษต้องเจรจาเปลี่ยนผ่านกฎระเบียบต่างๆ กับอียูนี้ ไม่น่ากระทบส่งออกไทยมาก เนื่องจากคู่ค้าเตรียมตัวกันล่วงหน้าแล้ว ข้อเสนอแนะของภาคเอกชน ต้องการให้ภาครัฐเร่งเจรจาเอฟทีเอ
ทั้งกับอียูและอังกฤษ เพื่อสร้างโอกาสและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับสินค้าไทย

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3547 วันที่ 9-12 กุมภาพันธ์ 2563