ครม.เคาะ"สายสีส้มตะวันตก"สกัดแบ่งเค้กแสนล้าน

28 ม.ค. 2563 | 08:09 น.

ครม.อนุมัติแล้วรูปแบบการลงทุนรถไฟฟ้าสายส้มตะวันตก วงเงิน 1.16แสนล้านบาท ในรูปแบบ PPP หลังยืดเยื้อมานาน

นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก วงเงิน 1.16 แสนล้านบาท ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร จำนวน 11 สถานี ซึ่งเป็นสถานีใต้ดินทั้งหมด จากสถานีบางขุนนนท์ ถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย โดยรูปแบบการลงทุนแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนหรือ PPP ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ 19.45%  โดยรัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน เอกชนลงทุนค่างานโยธา กำหนดระยะเวลาสัมปทานเดินรถ 30 ปี ซึ่งเอกชนจะเป็นผู้บริหารจัดเก็บค่าโดยสาร คาดว่าจะเริ่มคัดเลือกเอกชนภายใน ตุลาคม 2563 จากนั้นจะเริ่มสำรวจและก่อสร้าง สามารถปิดบริการได้ในปี 2569 

 

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ในสมัยรัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์1" เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2562 คณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่มีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบในหลักการให้เอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในรูปแบบ PPP Net Cost  โดยภาครัฐเป็นผู้ลงทุนค่างานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ส่วนตะวันตก  และเอกชนลงทุนค่างานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ส่วนตะวันตก  และค่างานระบบรถไฟฟ้า  ขบวนรถไฟฟ้า  บริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงรักษาทั้งเส้นทาง

อย่างไรก็ตามเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลได้มีการเสนอโครงการนี้ให้ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจพิจารณา ปรากฎว่านายศักดิ์ สยามชิดชอบ ได้มีการเสนอให้ทบทวนรูปแบบการลงทุนงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันตกจากเดิมที่เป็นการให้เอกชนร่วมลงทุนมาเป็นรัฐเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองหลังจากกระทรวงการคลังซึ่งเคยมีข้อสังเกตว่า  การให้รัฐลงทุนงานโยธาจะมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่ากรณีให้เอกชนร่วมลงทุน เนื่องจากเอกชนมีต้นทุนการชำระหนี้ที่สูงกว่ารัฐ  

 

นายศักดิ์สยาม ให้เหตุผลว่าเนื่องจากโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม  ส่วนตะวันตก  เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่มีวงเงินลงทุนสูง จึงจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนรูปแบบการให้รัฐลงทุนงานโยธา โดยการเปิดประมูลว่าจ้างเอกชนเข้ามาเป็นผู้ก่อสร้าง แต่นายสมคิดไม่เห็นด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานที่ประชุม จึงมอบหมายให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อไปหาข้อสรุป

  ครม.เคาะ"สายสีส้มตะวันตก"สกัดแบ่งเค้กแสนล้าน

ต่อมาในระหว่างการพิจารณาทบทวนกระทรวงการคลังได้เสนอความเห็นเพิ่มเติม  เมื่อวันที่  1  พฤศจิกายน  2562 ว่า  แม้การจัดหาเงินกู้โดยภาครัฐจะมีอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมต่ำกว่าภาคเอกชนแต่รูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนงานโยธาส่วนตะวันตกด้วยนั้นมีความเหมาะสม  เนื่องจากรัฐยังมีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการอื่นตามนโยบายของรัฐบาลที่มีความสำคัญภายใต้แหล่งเงินที่จำกัดอยู่เพียงงบประมาณและเงินกู้ เช่น  ด้านการศึกษา  ด้านการเกษตร เป็นต้น  ประกอบกับกรณีรัฐเป็นผู้จัดหาเงินกู้เพื่อก่อสร้างงานโยธาจะเกิดภาระหนี้สาธารณะตั้งแต่ช่วงเริ่มก่อสร้าง  ซึ่งจะกระทบต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ  และอาจส่งผลต่อความยั่งยืนทางการเงินการคลัง  ตลอดจนความน่าเชื่อถือของประเทศ

 

นอกจากนี้นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทำหนังสือที่ ที่ กค 1005/15417 ถึงสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกอบความเห็นครม. กรณีกระทรวงคมนาคมจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน ระบุโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการหรือโครงการ ตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 และประกาศคณะกรรม การนโยบายการเงินการคลังภาครัฐ เรื่อง การดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการที่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณหรือภาระทางการคลังในอนาคต พ.ศ. 2561 ดังนั้นการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)จะต้อง ดําเนินการตามบทบัญญัติในมาตรา 27 ให้ครบถ้วน 

 

จากนั้นในวันที่ 10 ตุลาคม 2562 นายอนุทิน ได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาข้อสรุปเสนอให้ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจพิจารณาอีกครั้ง แต่ปรากฏว่าต้องสั่งปิดการประชุมลงก่อนที่จะมีข้อสรุป หลังจากนายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอความเห็นในที่ประชุมระบุ สศช.ไม่ขัดข้องที่จะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน แต่กระทรวงคมนาคมและรฟม.ต้องตอบคำถามให้ได้ว่ารัฐจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้รฟม.เคยทำการศึกษาความคุ้มค่าการลงทุน และเสนอให้คณะกรรมการสศช. และบอร์ดพีพีพีพิจารณา โดยได้มีการเปรียบเทียบอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ EIRR ที่รัฐจะได้รับพบว่า ถ้าลงทุนด้วยรูปแบบ PPP รัฐบาลจะได้ผลตอบแทน 21% แต่ถ้าแยกสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างรัฐบาลจะได้ผลตอบแทน 15.9% หรือลดลงเกือบ 5% 

 

หลังจากหน่วยงานต่างๆมีการทั้งท้วงรฟม.ได้นำความเห็นต่างๆไปทบทวน และมีความเห็นว่าควรกลับมาใช้การลงทุนในรูปแบบ PPP เหมือนเดิม และเสนอให้ครม.อนุมัติในที่สุด