คงเป้าแผนนำเข้าปี63 คุมเข้มไข่ล้นตลาด

28 ม.ค. 2563 | 04:16 น.

มิสเตอร์ไก่ไข่ เปิดแผนนำเข้าพ่อแม่พันธุ์-ปู่ย่าพันธุ์คงเป้าปี63 ใช้แผนการตลาดนำการผลิต ยกระดับราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพ ผู้เลี้ยงไม่ขาดทุน เผยสถานการณ์ราคายังอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวังอย่างน้อย 1 ปี

คงเป้าแผนนำเข้าปี63 คุมเข้มไข่ล้นตลาด

นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ หรือมิสเตอร์ไก่ไข่ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ หรือเอ้กบอร์ด (27 ม.ค.63) มีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในที่ประชุม ได้มีมติเห็นชอบแผนการนำเข้าปู่ย่าพันธุ์ไก่ไข่ (GP) ปี2563 ตามที่กรมปศุสัตว์เสนอ จำนวน 3,800 ตัว และพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) จำนวน 440,000 ตัว และสำรองไว้ที่กรมปศุสัตว์อีก 2 หมื่นตัว  หากมีการขาดแคลนกรมปศุสัตว์จะได้มีอำนาจในการบริหารจัดการโดยไม่ต้องเข้าเอ้กบอร์ดพิจารณาใหม่

คงเป้าแผนนำเข้าปี63 คุมเข้มไข่ล้นตลาด

“ราคาไข่ไก่คละอยู่ที่ 2.70 บาท/ฟอง ซึ่งเป็นราคาที่อยู่ในช่วงการเฝ้าระวังอย่างน้อย 1 ปีนับจากนี้ พราะต้นทุนเกษตรกรก็ยังอยู่ในระดับนี้ ส่วนกรณีรายย่อยใครไม่มีพันธุ์ไก่ก็มาร้องเรียนที่กรมปศุสัตว์ได้จะดูแลตรวจสอบ ส่วนรายที่จะขยายใหม่ กรณีเลี้ยงเพิ่ม ต้องยอมรับว่าขยายเพิ่มไม่ได้ เนื่องจากพันธุ์ไก่ลดลง ยกเว้นไม่ขายให้ลูกค้ารายเดิม หรือขยายฟาร์มเลี้ยงเองเพื่อให้สมดุลกับความต้องการของตลาด เพื่อทำให้ราคาไข่ไก่มีเสถียรภาพและไม่ขาดทุน ต้องใช้นโยบายการตลาดนำการผลิต ต้องปรับลดตามสัดส่วน เพราะฉะนั้นใครเคยไม่เคยเลี้ยงแล้วมาเลี้ยงใหม่เป็นธรรมดาที่จะขาดแม่ไก่เลี้ยง”

คงเป้าแผนนำเข้าปี63 คุมเข้มไข่ล้นตลาด

นายสัตวแพทย์สมชวน  กล่าวว่า แต่หากต้องการที่จะเลี้ยงจริง ก็ต้องมายื่นเรื่องที่กรมปศุสัตว์จะได้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่ได้ปิดกั้น สามารถมาแจ้งได้ หรือหากเกษตรกรรายใดไม่ได้รับความเป็นธรรมเรื่องของการขายพันธุ์ไก่ อาทิ เลี้ยงอยู่ 1 แสนตัว แล้ววันหนึ่งผู้นำเข้าแม่พันธุ์ไก่ไข่ไม่ขายให้เลยหรือขายให้น้อยมากโดยไม่มีเหตุผล กรมปศุสัตว์มีมาตรการกับผู้นำเข้าโดยปรับลดโควตาการนำเข้าลงเพื่อนำไปให้รายอื่นแทน นี่เป็นบทลงโทษในมาตรการหนึ่งที่กรมดูแลการบริหารจัดการไข่ไก่เพื่อให้ทุกห่วงโซ่อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นธรรม

คงเป้าแผนนำเข้าปี63 คุมเข้มไข่ล้นตลาด

“ส่วน 2 บริษัท Hy-line International จากประเทศสหรัฐอเมริกา และบริษัท Lohmann Tierzuchi GmbH แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี จะขอตั้งโรงงานผลิตปู่ย่าพันธุ์ในประเทศ หรือ (GP) เพื่อจะขอสร้างฐานการผลิตพ่อแม่พันธุ์ไก่ไข่ (PS) เพื่อการส่งออกไปขายเวียดนาม ลาว และกัมพูชา เป็นต้น นั้นทางที่ประชุมได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อไปศึกษาข้อดีและข้อเสียแล้วนำมาเสนอในการประชุมครั้งต่อไป”

คงเป้าแผนนำเข้าปี63 คุมเข้มไข่ล้นตลาด

ส่วนการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไก่ไข่ เอ้กบอร์ดเห็นชอบในหลักการในการสนับสนุนให้สมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ไปดำเนินการและจัดการกันเอง โดยให้ข้อเสนอแนะระเบียบการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนและค่าใช้จ่ายในกองทุน ควรจะให้มีความชัดเจน เหมาะสม รอบคอบและถูกกฎหมาย

คงเป้าแผนนำเข้าปี63 คุมเข้มไข่ล้นตลาด

ด้านนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์ไก่ไข่ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มกราคม 2563) ราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มฟองละ 2.70 บาท ลูกไก่ไข่ตัวละ 28 บาท ไก่ไข่รุ่นตัวละ 150 บาท สำหรับปี 2562 มีปริมาณผลผลิตไข่ไก่ จำนวน 14,742 ล้านฟอง อัตราการบริโภค 220 ฟอง/คน/ปี มีการส่งออกไข่ไก่สด ปริมาณ 271.368 ล้านฟอง มูลค่า 765.512 ล้านบาท ตลาดหลักคือฮ่องกง คิดเป็นร้อยละ 90 ราคาขายส่งไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม เฉลี่ย 2.74 บาท/ฟอง เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ราคาเฉลี่ย 2.56 บาท/ฟอง ราคาลูกไก่ไข่ เฉลี่ย 21.63 บาท/ตัว ราคาไก่รุ่น ปี 2562 เฉลี่ย 141.02 บาท/ตัว ต้นทุนการผลิตไข่ไก่ เฉลี่ยฟองละ 2.61 บาท

คงเป้าแผนนำเข้าปี63 คุมเข้มไข่ล้นตลาด

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาร่างยุทธศาสตร์ไก่ไข่ ฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2563 - 2567) เพื่อพัฒนาและบริหารจัดการไก่ไข่ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่มีความมั่นคงในอาชีพและมีความเข้มแข็งจากการรวมกลุ่มเป็นสถาบันเกษตรกร สร้างความสมดุลการผลิตไข่ไก่กับความต้องการบริโภคป้องกันการเกิดราคาไข่ไก่ผันผวน เพิ่มอัตราการบริโภคและส่งเสริมการแปรรูปไข่ไก่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม และยกระดับมาตรฐานการผลิตไข่ไก่ให้ได้คุณภาพ อย่างไรก็ตาม จะให้มีการแจ้งเวียนร่างยุทธศาสตร์ให้คณะกรรมการฯ พิจารณาและให้ข้อเสนอแนะ ภายในระยะเวลา 1 เดือน หากไม่มีข้อแก้ไขจะนำเสนอ ครม. พิจารณาต่อไป

คงเป้าแผนนำเข้าปี63 คุมเข้มไข่ล้นตลาด

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังได้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการปรับมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับ โดยมอบหมายให้กรมปศุสัตว์และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) สร้างการรับรู้เกี่ยวกับการปรับมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่เป็นมาตรฐานบังคับ พร้อมทั้งหามาตรการดูแลให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการออกมาตรฐานฟาร์มไก่ไข่ โดยปรับการเลี้ยงไก่ไข่ให้ได้รับมาตรฐานอื่น ๆ ของกรมปศุสัตว์ด้วย