ปาล์มพุ่งไม่หยุด 40โรงสกัดเบรกผลิต

26 ม.ค. 2563 | 07:05 น.

โรงสกัดนํ้ามันปาล์มโอด 3 ปีหลังแห่รับส่งเสริมบีโอไอ กำลังผลิตมากกว่าผลผลิตปาล์ม 2.6 เท่าตัว หยุดเดินเครื่องผลิตกว่า 40 โรง จากใช้กำลังผลิตได้แค่ 40% จี้รัฐทำข้อมูลให้ชัดหวังนักลงทุนได้ใช้ตัดสินใจ ขณะ คน.ใจแข็งยังไม่ให้ขึ้นราคาปาล์มขวด

คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ประกาศปี 2559 จะเป็นปีสุดท้ายที่จะให้การส่งเสริมการลงทุนแบบแบ่งเป็นเขต 1,2,3 โดยเขต 3 ได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุด ส่งผลให้ผู้ประกอบการแห่ขอบีโอไอ เพื่อตั้งโรงงานสกัดนํ้ามันปาล์มเป็นจำนวนมาก ผลตามมาถึง ณ ปัจจุบันทำให้ผลผลิตปาล์มไม่เพียงพอป้อนโรงสกัดนํ้ามันปาล์ม การใช้กำลังผลิตได้ไม่เต็มร้อย หลายรายประสบภาวะขาดทุนในขณะนี้

นายกฤษดา ชวนะนันท์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมนํ้ามันปาล์ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า คาดเวลานี้โรงสกัดนํ้ามันปาล์มที่มีอยู่ทั่วประเทศประมาณ 130 โรง (ยังไม่มีผลสำรวจอย่างเป็นทางการ) ยังเดินเครื่องผลิตอยู่ 80-90 โรง อีกราว 40 โรงได้หยุดเดินเครื่องผลิตจากวัตถุดิบไม่เพียงพอ ซึ่งจากผลการศึกษากำลังผลิตของโรงสกัดโดยรวมเวลานี้มีมากกว่าผลผลิตปาล์ม 2.6 เท่า และการใช้กำลังผลิตเฉลี่ยในภาพรวมไม่เกิน 40%

 

“โรงงานที่หยุดเดินเครื่องผลิตไปส่วนใหญ่ไม่ได้หยุดถาวร แต่มีการขายโรงงาน (ส่วนใหญ่ขายให้กับผู้ประกอบการจีน) หรือให้เช่าเพื่อฟื้นการผลิตในช่วงเวลาที่เหมาะสม เรื่องนี้รัฐบาลควรมีการสำรวจและจัดทำข้อมูลให้มีความชัดเจนถึงจำนวนโรงงาน คาดการณ์ผลผลิต และความต้องการวัตถุดิบ เพื่อให้นักลงทุนได้พิจารณาในการตัดสินใจว่าควรสร้างโรงงานอีกหรือไม่”

อย่างไรก็ดีเรื่องหยุดเดินเครื่องผลิตนี้ ไม่กระทบเกษตรกร เพราะถึงอย่างไรทางโรงสกัดที่เหลืออยู่ก็แย่งกันซื้อผลปาล์มอยู่แล้ว แต่จะมีผลกระทบในเรื่องราคา หากต้นทุนผู้ประกอบการสูงก็จะซื้อผลปาล์มได้ในราคาที่ลดลง หากต้นทุนตํ่า การใช้กำลังผลิตมีมากก็จะซื้อผลปาล์มได้ในราคาที่สูงขึ้น

 

ปาล์ม-ซีพีโอพุ่งสูงสุด

สำหรับราคาผลปาล์มที่โรงสกัดรับซื้อในเวลานี้เฉลี่ยที่ 7-8 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) ถือเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จากผลผลิตมีน้อย และมีความต้องการนำไปใช้ในการผลิต
นํ้ามันไบโอดีเซลบี 10 ตามนโยบายของรัฐบาล และผู้ประกอบการที่ชนะประมูลจัดซื้อนํ้ามันปาล์มดิบ (ซีพีโอ) เพื่อส่งมอบให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า 1.01 แสนตัน ต้องส่งมอบตามสัญญา (ล่าสุด กนป.ให้ชะลอการส่งมอบออกไปก่อนจากนํ้ามันปาล์มราคาสูง เกรงจะเกิดการลักลอบนำเข้า)

ขณะที่ส่วนหนึ่งยอมรับว่ามีโรงสกัดบางรายเก็งกำไรโดยซื้อผลปาล์มในราคาสูงเพื่อดันราคานํ้ามันปาล์มดิบให้สูง ทุกปัจจัยที่กล่าวมาส่งผลให้ราคานํ้ามันปาล์มดิบในประเทศพุ่งสูงขึ้นถึง 40 บาทต่อกก.(เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้) ถือสูงสุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน (ล่าสุดปรับลดลงมาเหลือ 38 บาทต่อกก.) แต่ยังสูงกว่าราคาตลาดโลก (อ้างอิงตลาดมาเลเซีย) เกือบเท่าตัว จากปัจจุบันอยู่ที่ 20-21 บาทต่อกก.(สูงสุดในรอบ 7 ปีนับจากปี 2557)

ปาล์มพุ่งไม่หยุด  40โรงสกัดเบรกผลิต

 

คน.ยังไม่ให้ขึ้นปาล์มขวด

“จากราคานํ้ามันปาล์มดิบปรับตัวสูงขึ้น มีโอกาสที่จะมีนํ้ามันเถื่อนลักลอบนำเข้าเพราะราคาจูงใจ ทุกฝ่ายคงต้องช่วยกันจับตาใกล้ชิด ขณะที่นํ้ามันปาล์มที่ปรับตัวสูงขึ้นกระทบกับโรงกลั่นนํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภค และผู้ผลิตไบโอดีเซลมีต้นทุนที่สูงขึ้น ทำให้ชะลอการรับซื้อ
นํ้ามันปาล์มดิบจากโรงสกัด เฉพาะอย่างยิ่งนํ้ามันปาล์มดิบ 40 บาทต่อกิโลฯ ทำให้ต้นทุนนํ้ามันปาล์มขวด 1 ลิตรสูงขึ้นมากกว่า 50 บาทต่อขวด แต่กรมการค้าภายในยังให้คงราคาเพดานไว้ที่ 42 บาทต่อขวด ต้องติดตามว่าจะยอมให้ปรับหรือไม่”

ด้านนายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน(คน.) เปิดเผย (ณ วันที่ 22 ม.ค. 63) ว่า ยังไม่มีผู้ประกอบการโรงกลั่นนํ้ามันปาล์มเพื่อบริโภคทำหนังสือขอปรับราคามายังกรมฯ เนื่องจากยังมีนํ้ามันปาล์มซึ่งเป็นสต๊อกเก่าอยู่ 3-4 แสนตัน ยังเพียงพอต่อการบริโภคอีก 1 เดือน ก่อนผลผลิตปาล์มจะออกมามากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ทั้งนี้ผู้บริโภคยังมีทางเลือก เช่น
นํ้ามันถั่วเหลือง ที่ขณะนี้ราคา 35-40 บาทต่อขวดลิตร

 

จับตาส่งมอบปาล์มปั่นไฟ

นายประกิต ประสิทธิ์ศุภผล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พี.เค.มารีน เทรดดิ้ง จำกัด ผู้ประกอบการขนส่งนํ้ามันปาล์มทางเรือและท่าเทียบเรือ กล่าวว่า จากโรงสกัด 17 ราย (ล่าสุดเหลือ 16 ราย โดย 1 รายคือ บริษัท ประจงกิจปาล์มออยล์ฯ ได้ขายกิจการช่วงคาบเกี่ยวทำให้ไม่ได้ทำสัญญากับ กฟผ.) ต้องส่งมอบนํ้ามันปาล์มดิบตามสัญญาให้กฟผ. 1.01 แสนตัน ได้ส่งแล้วในเดือนธันวาคม รวม 1.75 หมื่นตัน ส่วนที่เหลือคาดจะส่งมอบให้ กฟผ.ครบทุกราย ไม่เช่นนั้นจะถูกยึดคํ้าประกัน ถูกปรับ ฟ้องร้องค่าเสียหาย หรือถูกขึ้นแบล็กลิสต์ได้ ส่วนสต๊อกนํ้ามันปาล์มดิบของประเทศเวลานี้อยู่ที่ราว 4 แสนตันไม่ถือว่าขาด จากเซฟตี้สต๊อกอยู่ที่ 2.5-3 แสนตัน

 

สวนปาล์มลุ้นราคาลดลง

นายณภัคธร ชัยสงคราม ประธานสมาพันธ์ลานเทปาล์มนํ้ามันประเทศไทย กล่าวว่า ณ ปัจจุบันโรงสกัดซื้อผลปาล์มจากเกษตรกรเฉลี่ย 7.60 บาทต่อกก. ลานเทซื้อเฉลี่ย 7.20-7.30 บาทต่อกก. มีบางช่วงก่อนหน้านี้โรงสกัดบางโรงซื้อที่ 8 บาทต่อ กก.จากขาดวัตถุดิบ อย่างไรก็ดีคาดผลผลิตปาล์มจะเริ่มออกมามากในช่วงอีก 1 เดือนครึ่งนับจากนี้ หากมีผลทำให้ราคาผลปาล์มลดลงมา เช่นเหลือ 5-6 บาทต่อกก.เกษตรกรยังพอรับได้ แต่อย่าให้ตํ่ากว่า 4 บาทต่อกก.เพราะต้นทุนการผลิตก็เฉลี่ยที่ 3.38 บาทต่อกก.แล้ว

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3543 วันที่ 26-29 มกราคม 2563