อีอีซี สู้ภัยแล้ง เร่ง 3 โครงการเพิ่มน้ำ รับมือฝนไม่ตก

23 ม.ค. 2563 | 12:47 น.

สทนช.เร่งแก้ปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อีอีซี จี้ 3 โครงการ ผันน้ำเติมในอ่างหลักป้อนให้ภาคอุตสาหกรรม ขณะที่แผนรับมือระยะยาว ใช้งบกว่า 5 หมื่นล้านบาท พัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กบอ.) เปิดเผยว่า ในการประชุมวันนี้( 23 ม.ค.63) ที่ประชุมได้รับทราบ และพิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินงานในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยในส่วนของสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นนั้น ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้เสนอมาตรการระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2563 นั้น สทนช.ได้สรุปสถานการณ์น้ำในจังหวัดระยองและฉะเชิงเทรา มีน้ำใช้เพียงพอ ส่วนจังหวัดชลบุรี มีความต้องการน้ำเพิ่มเล็กน้อย (ประมาณ 5 - 6 ล้านลูกบาศก์เมตร) แต่ยังคงต้องเฝ้าระวัง และทำงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำ โดยเตรียมโครงการต่างๆ ไว้เพิ่มเติม

  อีอีซี สู้ภัยแล้ง เร่ง 3 โครงการเพิ่มน้ำ รับมือฝนไม่ตก

                                             นายอุตตม สาวนายน

 

ทั้งนี้ ให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดทำแผนใช้น้ำ ลดลง 10 % ช่วงเดือน มกราคม – มิถุนายน 2563 พร้อมทั้งวางมาตรการเพิ่มปริมาณน้ำ หากฝนตกล่าช้าจากปกติเดือนมิถุนายน สทนช. ได้วางโครงการเพื่อลดความเสี่ยง โดยการสูบน้ำกลับคลองสะพาน มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 20 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ EASTWATER ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ

 

รวมทั้งโครงการสูบน้ำคลองหลวง ณ จุดพานทองเข้ากับท่อส่งน้ำคลองพระองค์ไชยานุชิต - บางพระ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดย EASTWATER ประสานกับกรมชลประทาน เร่งดำเนินการ และโครงการผันน้ำอ่างเก็บน้ำประแกด (ลุ่มน้ำวังโตนด) จ.จันทบุรี มายังอ่างเก็บน้ำประแสร์ คาดว่าจะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 70 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยต้องเจรจาค่าน้ำกับคณะกรรมการลุ่มน้ำคลองวังโตนด  หากดำเนินการเสร็จทั้ง 3 โครงการ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้น 160 ล้านลูกบาศก์เมตร

อีอีซี สู้ภัยแล้ง เร่ง 3 โครงการเพิ่มน้ำ รับมือฝนไม่ตก

 

ขณะที่การบริหารจัดการน้ำระยะยาวให้เพียงพอ สทนช. ได้จัดทำแผนภายใต้โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและการจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (ปี 2563 – 2580) ประกอบด้วย การพัฒนาและจัดการน้ำต้นทุน วงเงิน 52,797 ล้านบาท  ได้แก่ แผนการพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุน 38 โครงการ วงเงิน 50,691 ล้านบาท เช่น สร้างอ่างเก็บน้ำ คลองวังโตนด อ่างเก็บน้ำ คลองโพล้ และพัฒนาระบบสูบกลับคลองสะพาน - อ่างเก็บน้ำประแสร์ เป็นต้น

 

แผนการบริหารจัดการด้านความต้องการใช้น้ำ 9 โครงการ วงเงิน 1,927.15 ล้านบาท เช่น แผนการบริหารจัดการลดน้ำสูญเสีย การประปาส่วนภูมิภาค สาขาต่าง ๆ ปรับระบบการเพาะปลูก เป็นต้น มาตรการอื่นๆ ด้านการศึกษาจัดทำฐานข้อมูลพัฒนาน้ำบาดาล 3 โครงการ วงเงิน 178.99 ล้านบาท  รวมถึการศึกษาการผลิตน้ำจืดจากทะเล (Desalination) ที่จะเตรียมพิจารณาการลงทุนในอนาคต เป็นต้น

 

ทั้งนี้ ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชนในพื้นที่ อีอีซี คือ จะมีความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำ มีน้ำต้นทุนเพียงพอต่อความต้องการทุกภาคส่วนจนถึงปี 2580 สามารถป้องกันและบรรเทาปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชน ที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจแหล่งท่องเที่ยว และสถานประกอบการต่างๆ  มีน้ำคุณภาพดีที่ส่งผลดีต่อสุขภาพสุขภาพประชาชน และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจด้านการผลิต และการบริหาร