พาณิชย์ตั้งสมมติฐาน 3 กรณี เล็งส่งออกปีชวดโต 1.5-3%

22 ม.ค. 2563 | 07:42 น.

พาณิชย์มั่นใจส่งออกปี 63 พลิกบวก ผลพวงสงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนคลี่คลาย คาดเบร็กซิทมีความชัดเจน ดันค้าโลกขยายตัว ตั้งสมมุติฐานส่งออกปีชวดโต 1.5-3% เตรียมถกทูตพาณิชย์กำหนดเป้าหมายชัด ก.พ.นี้

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  กล่าวว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในปี 2562  ที่มีมูลค่า 246,244 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวลดลง หรือติดลบ 2.65% เมื่อเทียบกับปีก่อนมีปัจจัยสำคัญจากผลกระทบสงครามการค้า ปัญหาเงินบาทของไทยที่แข็งค่าต่อเนื่อง รวมทั้งแรงกดดันราคาน้ำมัน และทองคำที่มีความผันผวน กระทบต่อการส่งออกสินค้าสำคัญ เช่น รถยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าเกษตร เช่น ข้าว ที่ติดลบ 26% โดยประเทศอื่นก็ประสบปัญหาเดียวกัน เช่นอินโดนีเซีย ส่งออกติดลบถึง 6.9 % และเกาหลีใต้ ติดลบถึง 10.3%     แต่มีสินค้าบางกลุ่มที่ยังขยายตัวได้ เช่น ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องปรับอากาศ ผักสด  ผลไม้สด และแช่งแข็ง ไก่สดแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูป และสินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์

พาณิชย์ตั้งสมมติฐาน 3 กรณี เล็งส่งออกปีชวดโต 1.5-3%

                                                 พิมพ์ชนก  วอนขอพร

 

สำหรับการส่งออกไทยในปี 2563 เชื่อว่าจะปรับตัวดีขึ้น จากปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่เริ่มคลี่คลาย ความชัดเจนจากการออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร หรือ Brexit จะช่วยให้บรรยากาศการค้าดีขึ้น และการบริโภคของโลกที่ยังมีความจำเป็น จะเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภค รวมไปถึงกิจกรรมของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์(นายจุรินทร์  ลักษณวิศิษฏ์) ที่ปีนี้ มีแผนไปบุกตลาดเป้าหมาย 18 ประเทศ จึงมั่นใจว่า การส่งออกในปีนี้จะขยายตัวเป็นบวกได้ ซึ่งอยากให้รัฐบาล ผลักดันการส่งออกควบคู่กับการลงทุน มาตั้งฐานการผลิตสินค้าในไทย ที่จะเป็นโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มเติม

 

ทั้งนี้ยังต้องรอการทบทวนเป้าหมายการส่งออกปี 2563 อีกครั้งร่วมกับทูตพาณิชย์ที่จะมีการประชุมร่วมกันในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นี้  ซึ่งหากต้องการให้การส่งออกขยายตัว 3%  จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 21,278 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหากต้องการให้ขยายตัว 2.5 % จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเดือนละ 21,175 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือหากต้องการขยายตัว 1.5%  จะต้องมีมูลค่าการส่งออกเดือนละ 20,968 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใต้สมมุติฐานราคาน้ำมันดิบ อยู่ที่  65 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล  ค่าเงินบาทที่ 30-32 ต่อดอลลาร์สหรัฐฯ

พาณิชย์ตั้งสมมติฐาน 3 กรณี เล็งส่งออกปีชวดโต 1.5-3%

สำหรับสถานการณ์ส่งออกของไทยเดือนธันวาคม 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 2.7% ซึ่งสินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ น้ำตาลทราย ขยายตัว 33.3%  เครื่องดื่ม ขยายตัว26.2% ผัก ผลไม้สด แช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 9.7% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป ขยายตัว 11.6% ส่วนสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ข้าว ติดลบ 41.1% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ติดลบ 24% กุ้งสดแช่แข็งและแปรรูป ติดลบ 20.1% ยางพารา ติดลบ 2.7% โดยภาพรวมของปี 2562 สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 2.4%

 

ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมติดลบ 0.9% สินค้าที่ยังขยายตัวดี ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวเกือบทุกตลาด ขยายตัว 49.3%  เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน ขยายตัว 24%  เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ขยายตัว 12.6%  เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 12.2%  ส่วนสินค้าที่หดตัว ได้แก่ ทองคำ ติดลบ 40.8%  รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ติดลบ 14.6%  สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันติดลบเกือบทุกตลาด ส่งผลให้ภาพรวมของปี 2562 มูลค่าสินค้าอุตสาหกรรมติดลบที่ 1.8%

พาณิชย์ตั้งสมมติฐาน 3 กรณี เล็งส่งออกปีชวดโต 1.5-3%

 

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญมีสัญญาณการฟื้นตัวชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไป 2 ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่สุดของโลกอย่างสหรัฐฯ โดยขยายตัว 15.6% เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 เดือน และจีน ขยายตัว 7.3% เป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 18 เดือน  นอกจากนี้ การส่งออกไปตลาด CLMV กลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ 1.1 %  

 

ตลาดสหภาพยุโรป(15) ติดลบ 1.9%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศฯ  เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และเครื่องคอมพิวเตอร์ฯ ขณะทั้งปี 2562 ติดลบ 6.6%

 

พาณิชย์ตั้งสมมติฐาน 3 กรณี เล็งส่งออกปีชวดโต 1.5-3%

 ตลาดญี่ปุ่น ติดลบ 4.4%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ โทรศัพท์และอุปกรณ์ฯ เม็ดพลาสติก และอาหารทะเลแปรรูปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่ทั้งปี2562 ติดลบ 1.5%

 

 ตลาดลาตินอเมริกา ติดลบ 9.7%สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าฯ และเม็ดพลาสติก ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ เครื่องจักรกลฯ และเครื่องยนต์สันดาปฯ ขณะที่ทั้งปี 2562 ติดลบ 6.8%  ตลาดอาเซียน(5)  ติดลบ 9.5% สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ รถยนต์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกล  ข้าว เครื่องคอมพิวเตอร์ฯ และอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ น้ำตาลทราย ยางพารา และแผงวงจร ขณะที่ทั้งปี 2562 ติดลบ 9.6%

 

 ตลาดตะวันออกกลาง ขยายตัวสูงสุดในรอบ 23 เดือนที่ 11.4%  สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ เครื่องจักรกล รถยนต์และส่วนประกอบ น้ำมันสำเร็จรูป ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และน้ำตาลทราย ขณะที่ทั้งปี 2562 ติดลบ 1.9%

พาณิชย์ตั้งสมมติฐาน 3 กรณี เล็งส่งออกปีชวดโต 1.5-3%

ตลาดทวีปแอฟริกา ติดลบ 16.7%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ ข้าว และอาหารทะเลแปรรูปฯ ด้านสินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่เครื่องจักรกลฯ เครื่องยนต์สันดาปฯ และน้ำตาลทราย ขณะที่ทั้งปี 2562 ติดลบ 10.9%

ตลาดอินเดีย ติดลบ 11.6%  สินค้าสำคัญที่หดตัว ได้แก่ เคมีภัณฑ์ และโทรทัศน์และส่วนประกอบ สินค้าที่ขยายตัวสูง ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีฯ และนาฬิกาฯ ขณะที่ทั้งปี 2562 ติดลบ 3.9 %