อมตะ หายห่วงภัยแล้ง ต้องบังคับทุกนิคมฯรีไซเคิล

28 ม.ค. 2563 | 03:00 น.

 

อมตะเผยสถานการณ์นํ้าอีอีซี วิกฤติรุนแรง ต้องลุ้นฝนตกหลังเดือนมิถุนายนถึงจะรอดได้ ชี้การแก้ปัญหาต้องบังคับทุกนิคมอุตสาหกรรม ใช้ระบบรีไซเคิลนํ้าทิ้ง แก้ปัญหาขาดแคลนนํ้าได้อย่างยั่งยืน

สถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเวลานี้ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ถือเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ และต้องเฝ้าระวังกับวิกฤติการขาดแคลนนํ้าที่จะเกิดขึ้น เพราะมีสัญญาณออกมาจากทางสำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ (สทนช.) คาดการณ์ว่าปริมาณนํ้าที่มีอยู่ในอ่างหลักของภาคตะวันออก จะมีนํ้าเพียงพอป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรมได้ถึงเดือนมิถุนายน 2563 เท่านั้น หากไม่มีปริมาณฝนตกลงมา ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่รุนแรงกว่าปี 2548

 

ข่าวเด่นฐานเศรษฐกิจ

● ย้อนรอย10โรคระบาดป่วนโลกเสียชีวิตกว่า50ล้านคน(มีคลิป)

● คนอู่ฮั่น ตะโกนลั่นเมือง "อู่ฮั่นสู้ตาย"(มีคลิป)

● จี้แลกรถเก่า ดีเซล4ล้านคัน ลดฝุ่นPM2.5

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปปี 2548 จะพบว่า ปริมาณนํ้าสะสมของอ่างเก็บนํ้า 5 แห่ง ที่ป้อนนํ้าให้กับภาคตะวันออก ได้แก่ บางพระ หนองค้อ ดอกกราย หนองปลาไหล และคลองใหญ่ เมื่อต้นเดือนมกราคม 2563 มีนํ้าสะสมอยู่ราว 159 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2548 มีปริมาณนํ้าสะสมอยู่ที่ราว 192 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งถือเป็นวิกฤตินํ้าของภาคตะวันออกในครั้งนั้น

วิกฤติภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภาคตะวันออกครั้งนี้ ทางสทนช.ในฐานะบริหารจัดการนํ้าทั่วประเทศ จึงได้สั่งการไปยังบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสต์วอเตอร์ ให้ลดการจ่ายนํ้าดิบให้กับลูกค้าในทุกพื้นที่ลง 10% แล้ว เพื่อยืดปริมาณการใช้นํ้าดิบให้ผ่านพ้นกลางปีนี้ไปให้ได้ โดยปี 2562 อีสต์วอเตอร์ ได้จ่ายนํ้าดิบให้กับภาคอุตสาหกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 7.7 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือที่ 282.23 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจ่ายนํ้าดิบสำหรับการทำประปา 2.7 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 99.84 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

 

อมตะ หายห่วงภัยแล้ง ต้องบังคับทุกนิคมฯรีไซเคิล
 

 

ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) รายงานว่า ปี 2562 มีปริมาณการใช้นํ้าของนิคมอุตสาหกรรม 31 แห่ง ในพื้นที่อีอีซีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.50 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวัน หรือ 237.34 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

นายชูชาติ สายถิ่น กรรมการผู้จัดการ บริษัท อมตะ วอเตอร์ จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่อีอีซี ถือว่าวิกฤติรุนแรงกว่าปี 2548 เนื่องจากปริมาณต้นทุนที่สะสมไว้ในช่วงนี้ตํ่ากว่าค่อนข้างมากหรือมีปริมาณนํ้าใช้งานจาก 5 อ่างเก็บนํ้าหลักไม่ถึง 126 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียงพอไปจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายนปีนี้เท่านั้น ซึ่งการแก้ปัญหานั้นทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้มีการหารือกับทางสทนช.แล้ว คาดว่าจะมีมาตรการออกมา นำเสนอคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในเร็วๆ นี้

ทั้งนี้ มาตรการรับมือภัยแล้งที่ผ่านมา ทางภาครัฐได้ให้อีสต์วอเตอร์ ลดการจ่ายนํ้าให้กับภาคอุตสาหกรรมลง 10% หรือกว่า 6 แสนลูกบาศก์เมตรต่อวันเท่านั้น ทำให้นิคมต่างๆ ต้องไปจัดหาปริมาณนํ้าจากแหล่งอื่นๆ มาเสริมเพื่อป้อนนํ้าให้กับลูกค้าภายในนิคมของตัวเอง ซึ่งหากเลยเดือนมิถุนายนไปแล้วฝนไม่ตก ไม่มีปริมาณนํ้าเข้าอ่างเก็บนํ้าดังกล่าว ก็จะทำให้เกิดวิกฤติขาดแคลนนํ้าเพิ่มมากขึ้น

 

 

สำหรับแนวทางการแก้วิกฤติภัยแล้งดังกล่าว มองว่าภาครัฐหรือ กนอ.ควรจะมีมาตรการบังคับให้นิคมต่างๆ ลดการใช้นํ้าจากแหล่งธรรมชาติ และหันมาใช้ระบบการรีไซเคิลนํ้าทิ้ง เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ จะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน โดยเห็นได้จากเวลานี้นิคมฯอมตะทั้ง 2 แห่ง ที่ชลบุรีและระยอง จะไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้ เนื่องจากได้เตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง โดยการนำระบบรีไซเคิลนํ้ามาใช้ สามารถนำนํ้าทิ้งกลับมาใช้นํ้าดิบได้ถึง 40% วิธีการดังกล่าวนี้ จะทำให้การแก้ปัญหาการขาดแคลน นํ้าพื้นที่อีอีซีในอนาคตได้อย่างไม่มีปัญหา

ปลายเดือนมกราคมและต้นกุมภาพันธ์นี้ ทางนิคมฯอมตะ ชลบุรีและระยอง จะเชิญกลุ่มลูกค้าที่มีอยู่ในพื้นที่ราว 1 พันราย มาร่วมรับฟังสถานการณ์นํ้าในภาคตะวันออกและแผนการบริหารจัดการนํ้าภายในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อวางแผนร่วมกัน หากเกิดสถานการณ์นํ้าแล้งมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งเชิญชวนให้ผู้ประกอบการประหยัดนํ้าและได้จัดเตรียมที่ปรึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประหยัดนํ้าภายในกระบวนการผลิต ไว้ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการหากมีความต้องการ ซึ่งจากปริมาณนํ้าที่มีอยู่ราว 50 ล้านลูกบาศก์เมตร และการรีไซเคิลนํ้าของ นิคมฯอมตะ จะสามารถให้บริการนํ้าแก่ผู้ประกอบการได้อีก 15-18 เดือนในกรณีที่ฝนไม่ตก จึงมั่นใจได้ว่า จะสามารถผ่านวิกฤติภัยแล้งนี้ไปได้อย่างแน่นอน

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,542 วันที่ 23-25 มกราคม 2563