กทท.ลุยท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 

21 ม.ค. 2563 | 07:40 น.

“กทท.” เร่งเดินหน้าโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 หลังศาลปกครองสูงสุดกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น หนุนอีอีซี 


เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า ตามที่ กทท. ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และมีกลุ่มบริษัทที่สนใจร่วมลงทุนยื่นซองเสนอราคารวม 2 ราย ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้า NCP และกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาหลักฐานคุณสมบัติ (ซองที่ 1) ไปเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2562 และพิจารณาคุณสมบัติของผู้ยื่นข้อเสนอ (ซองที่ 2) คือ คุณสมบัติทั่วไปของนักลงทุน คุณสมบัติทางการเงิน และประสบการณ์ของผู้ยื่นข้อเสนอ

กทท.ลุยท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 

ในลำดับต่อมา ปรากฏว่ากลุ่มกิจการร่วมค้า NCP มิได้ลงนามในแบบฟอร์มสัญญากิจการร่วมค้า เพื่อแสดงเจตจำนงในความรับผิดชอบร่วมในการยื่นข้อเสนอตามที่กำหนด ทำให้ไม่ผ่านคุณสมบัติ ต่อมากลุ่ม NCP และได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาพร้อมทั้งมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา คณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้ยื่นคำอุทธรณ์คำพิพากษา พร้อมทั้งได้ยื่นคำร้องขอให้ระงับคำสั่งเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา และขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษา ซึ่งในระหว่างนั้นทำให้การดำเนินการต้องหยุดชะงักลง
 

อย่างไรก็ดี ต่อมาเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2562 ศาลปกครองสูงสุดได้มีหนังสือและคำสั่งศาลสั่งเพิกถอนเกี่ยวกับวิธีคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของศาลปกครองกลาง และในวันที่ 16 มกราคม 2563 ศาลปกครองสูงสุดได้ชี้ขาดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอให้ระงับคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยมีคำสั่งกลับคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นยกคำขอทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองตามคำขอของกลุ่ม NCP ซึ่งทำให้คำตัดสินของคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นอันถูกต้องและสามารถดำเนินการต่อไปได้

กทท.ลุยท่าเรือแหลมฉบังเฟส3 

สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้น เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลในการให้ความสำคัญในการรองรับยุทธศาสตร์ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของไทย พ.ศ.2558 - 2565 โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมขั้นสูง ด้วยเครือข่ายคมนาคมที่ครบวงจร ด้านระบบการขนส่งแบบอัตโนมัติ Automation แบบไร้รอยต่อ

ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 จะมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเพิ่ม 7 ล้าน ทีอียู. ต่อปี หากเมื่อโครงการฯ ดังกล่าว เปิดให้บริการครบทุกท่าจะมีขีดความสามารถรองรับตู้สินค้าได้ประมาณปีละ 18 ล้าน ทีอียู. และจะช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งรวมของประเทศ (Logistics Cost) เพื่อเป็นปัจจัยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน และผลักดันให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเป็นประตูการค้าของประเทศในภูมิภาค