หนุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่มน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา

17 ม.ค. 2563 | 09:58 น.

สทนช. ลงพื้นที่จังหวัดปราจีนบุรีติดตามผลการขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเค็มในพื้นที่ วอนประชาชนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและใช้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อจะได้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดแล้งนี้

หนุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่มน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา

วันที่ 17ม.ค.63 ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เผยระหว่างนำคณะลงพื้นที่หมู่ 9 บ้านโยทะกา ตำบลบางเตย อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำเพื่อวางแผนหลักการแก้ไขน้ำในลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกงอย่างเป็นระบบทั้งระยะสั้นและระยะยาว กล่าวว่า บ้านโยทะกา อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาระบบประปาน้ำบาดาล ที่ประชาชนสะท้อนปัญหาและความต้องการ โดยมีหน่วยงานในพื้นที่เป็นผู้เสนอโครงการ ทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณเร่งด่วนและทำการขุดเจาะบ่อบาดาลได้ทันก่อนภัยแล้งจะมาถึง

หนุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่มน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา

สทนช. ได้ทำการศึกษาการพัฒนาน้ำต้นทุนลุ่มน้ำปราจีนบุรี-บางปะกง โดยลงพื้นที่สำรวจเพื่อหากรอบและแนวทางในการพัฒนาแหล่งน้ำให้สามารถแก้ไขปัญหาด้านน้ำในทุกมิติได้อย่างเป็นระบบ และสอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งจะเป็นการแก้ไขแบบเบ็ดเสร็จในระยะยาวได้อย่างยั่งยืน โดยฤดูแล้งปีนี้คาดว่า ปริมาณฝนจะมีน้อยและจะล่าช้ากว่าที่ผ่านมา อาจส่งผลให้ฤดูแล้งยาวนาน จึงวอนขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและช่วยกันประหยัดน้ำเพื่อจะได้มีน้ำใช้ตลอดฤดูแล้งนี้

หนุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่มน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา

ด้าน นายทนงศักดิ์ ล้อชูสกุล ผู้อำนวยการสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) กล่าวว่า กรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้จัดสรรงบประมาณในปี 2562 เพื่อพัฒนาน้ำบาดาลแก้ไขปัญหาน้ำให้หมู่บ้าน ดำเนินการโดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 3 (สระบุรี) ซึ่งสภาพพื้นที่มีปริมาณน้ำที่สามารถพัฒนาน้ำบาดาลได้อยู่ที่ช่วง 2-10 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง แต่เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสเจอน้ำกร่อยถึงเค็ม จึงต้องเจาะบ่อบาดาล จำนวน 2 บ่อ ในชั้นหินให้น้ำตะกอนตะกอนน้ำพา (Qfd) โดยบ่อแรกที่มีการเจาะน้ำบาดาล พบชั้นน้ำ จำนวน 3 ชั้น

หนุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่มน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา

โดยชั้นน้ำชั้นแรกน้ำบาดาลมีคุณภาพน้ำกร่อย ชั้นน้ำที่ 2 น้ำบาดาลมีคุณภาพน้ำจืด และชั้นน้ำที่ 3 น้ำบาดาลมีคุณภาพเป็นน้ำเค็ม จึงมีการอุดกลบเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเค็มชั้นล่างจะเข้ามาปนเปื้อนในชั้นน้ำช่วงที่ 2 ได้ หลังจากนั้นได้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลบ่อในตำแหน่งใหม่เป็นบ่อที่ 2 และมีการพัฒนาน้ำบาดาลในชั้นน้ำที่ 2 ที่ความลึกการพัฒนา 249 เมตร ปริมาณน้ำบาดาลที่สามารถพัฒนาได้คือ 21 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง และน้ำบาดาลมีคุณภาพจืด

หนุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่มน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา

ส่งผลทำให้ชาวบ้านโยทะกา จำนวน 73 ครัวเรือน 210 คน มีระบบประปาน้ำบาดาลใช้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภาวะการขาดแคลนน้ำและมีคุณภาพน้ำที่ดีใช้ในการใช้อุปโภคบริโภค โดยสามารถชดเชยการใช้น้ำผิวดินได้ร้อยละ 50 แต่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านในพื้นที่อยู่ที่ 42 ลูกบาศก์เมตร/ชั่วโมง ซึ่งการขุดเจาะครั้งนี้ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำของหมู่บ้าน

หนุนเจาะบ่อบาดาลเพิ่มน้ำต้นทุนผลิตน้ำประปา

ทั้งนี้หน่วยงานในพื้นที่ได้เตรียมแผนการพัฒนาน้ำบาดาลให้มากขึ้นเนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพของแหล่งน้ำบาดาล โดยคำนึงถึงมาตรฐานในการเจาะเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลและป้องกันการปนเปื้อนระหว่างชั้นน้ำจืดและชั้นน้ำเค็มเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำบาดาลในพื้นที่ให้มีใช้ต่อไป