‘อีอีซี’กางแผนรับมือวิกฤติน้ำ โอดสาหัสกว่าปี48

16 ม.ค. 2563 | 03:20 น.

 

นายเอกสิทธิ์ งามพิเชษฐ์ นายกสมาคมนักธุรกิจและการท่องเที่ยวเมืองพัทยาซึ่งมีสมาชิก เป็นผู้ประกอบการกิจการโรงแรมทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ประมาณ 100 ราย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงข้อกังวลต่อปัญหาภัยแล้งที่ลามมาถึงการบริโภคนํ้าในพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองพัทยาว่า เมืองพัทยามีปัญหาเรื่องนํ้ามาตลอด ยิ่งพอมาเผชิญปัญหาภัยแล้งยิ่งทำให้ผู้ประกอบการ ธุรกิจโรงแรมในพื้นที่ดังกล่าว ต้องวิ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าคู่ขนานไปด้วย โดยวิ่งหาแหล่งนํ้าส่วนตัวสำรองไว้ และซื้อนํ้ามาจากบ่อนํ้าของชาวบ้าน ที่ขายนํ้าเที่ยวละ 250 บาท ใน ปริมาณ 2,000 ลิตรต่อเที่ยว คาดว่าต่อไปถ้าแล้งหนักกว่าเดิมราคานํ้าต่อเที่ยวคงสูงขึ้นอีก

“ยอมรับว่ามีความกังวล เพราะตอนนี้แม้แต่แหล่งนํ้าของชาวบ้านก็เริ่มมีปัญหา หากประเมินโดยสายตาคิดว่าปีนี้เจอภัยแล้งหนักกว่าปี 2548 แม้จะมีอ่างเก็บนํ้าเพิ่มขึ้น แต่ก็มีโรงงานอุตสาห กรรมและผู้ประกอบกิจการโรงแรมเกิดขึ้นมากเช่นกันที่ล้วนต้องใช้นํ้าต่อวันจำนวนมาก”

ด้านนายจิรายุทธ รุ่งศรีทอง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรนํ้าภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรืออีสท์วอเตอร์ ในฐานะผู้บริหารจัดการนํ้าเพื่ออุตสาหกรรม เปิดเผย ว่าขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ร่วมมือกันดำเนินการบริหารจัดการนํ้าเพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้งในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ไม่ว่าจะเป็นสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  (ส.อ.ท.) ในการขอความร่วมมือจากการนิคมอุตสาหกรรม ลดการใช้นํ้าลง 10% รวมถึงการประปาส่วนภูมิภาคในการจัดหาแหล่งนํ้าอื่นเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณนํ้า และกรมชลประทาน การเตรียมความพร้อมด้านเครื่องมื่อเครื่องจักร ขอความร่วมมือควบคุมการใช้นํ้าของภาคเกษตรกร และทุกภาคส่วนใช้นํ้าอย่างประหยัดและเป็นไปตามแผนการจัดสรรนํ้าที่วางไว้อย่างเคร่งครัด

สำหรับในแง่อีสท์ วอเตอร์ ขณะนี้เตรียมความพร้อม โดยชู 7 มาตรการสู้ภัยแล้ง รับมือวิกฤติขาดแคลนนํ้า ในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา โดยร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อบริหารจัดการนํ้าในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงไล่ตั้งแต่ 1.ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนลดการใช้นํ้าลง 10% 2. การจัดหาแหล่งนํ้าเพิ่มเติมจากบ่อดินเอกชนเข้ามาเสริมในพื้นที่ชลบุรีและฉะเชิงเทรา 3. เตรียมความพร้อมระบบสูบนํ้าสระสำรอง 4. โครงการปรับปรุงสถานีสูบนํ้าฉะเชิงเทรา (คลองเขื่อน) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการสูบนํ้าจากแม่นํ้าบางปะกง 5. โครงการเชื่อมท่ออ่างเก็บนํ้าประแสร์-อ่างเก็บนํ้าคลองใหญ่ กับเชื่อมท่ออ่างเก็บนํ้าประแสร์-อ่างเก็บนํ้าหนองปลาไหล 6. โครงการเพิ่มปริมาณการ จ่ายนํ้าท่อหนองปลาไหล-หนองค้อ 7. โครงการสูบนํ้าจากแม่นํ้าระยองไปยังสระสำรองนํ้าดิบทับมา

‘อีอีซี’กางแผนรับมือวิกฤติน้ำ โอดสาหัสกว่าปี48

 

ด้านนายสุทัศน์ นุชปาน ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา เปิดเผยว่าล่าสุดการประปาส่วนภูมิภาค สาขาพัทยา เดินแผนรณรงค์เชิงบังคับ หลังจากที่การประปามีการลดแรงดัน นํ้าเพื่อให้การไหลของนํ้าจากก็อกประปาอ่อนลง ลดการสูญเสียของนํ้ากรณีเกิดท่อแตกระหว่างส่งนํ้า โดยวางแผนการลดการใช้นํ้าลงเปรียบเทียบช่วงก่อนเดือนพฤศจิกายน 2562 และช่วงวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2563 เป็นดังนี้ อ่างเก็บนํ้าในพื้นที่เมืองพัทยารวม 5 อ่างเก็บนํ้า รวมความจุ อ่างเก็บนํ้ารวม 40 ล้านลบ.ม. เปรียบเทียบจากช่วงก่อนเดือนพฤศจิกายน 2562 มีการใช้นํ้าต่อวัน 75,000 ลบ.ม. ในช่วงวันที่ 1 มกราคม-30 มิถุนายน 2563 ลดการใช้นํ้าลงเหลือ 40,800 ลบ.ม.ต่อวัน, ในช่วงเดียวกันอ่างเก็บนํ้าหนองปลาไหลจาก 60,000 ลบ.ม. ต่อวันเหลือ 100,000 ลบ.ม.ต่อวัน ,อีสท์ วอเตอร์ จาก 59,000 ลบ.ม.ต่อวัน เหลือ 23,000 ลบ.ม.ต่อวัน เป็นต้น

นายเกรียงศักดิ์ พุ่มนาค ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการนํ้าและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ 9 เปิดเผย ถึงสถานะนํ้าจากโครงการชลประทานระยอง ณ วันที่ 14 มกราคม 2563 ว่า อ่างเก็บนํ้าดอกกรายเหลือปริมาณนํ้า 33.5 ล้านลบ.ม. ปริมาณนํ้าจากความจุอ่างเก็บนํ้าที่ 79 ล้านลบ.ม., อ่างเก็บนํ้าหนองปลาไหล เหลือปริมาณนํ้า 47.5 ล้านลบ.ม.จากความจุอ่างเก็บนํ้าที่ 164 ล้านลบ.ม., อ่างเก็บนํ้าคลองระโอก มีปริมาณนํ้า 13.5 ล้านลบ.ม. จากความจุอ่างเก็บนํ้า 19 ล้านลบ.ม., อ่างเก็บนํ้าประแสร์ มีปริมาณนํ้า 114.030 ล้านลบ.ม. จากความจุอ่างเก็บนํ้า 295 ล้านลบ.ม., อ่างเก็บนํ้าคลองใหญ่ มีปริมาณ นํ้า 9.429 ล้านลบ.ม.จากความจุอ่างเก็บนํ้า 40 ล้านลบ.ม. 

     อนึ่งก่อนหน้านี้กรมชลประทานมีแผนรับมือ โดยกำหนดแผนใช้น้ำรายวันโดยทุกภาคส่วนจะต้องใช้น้ำวันละ 1.117 ล้านลบ.ม.  หากใช้ได้ตามนี้จะใช้น้ำได้ถึง 30 มิถุนายน 2563 จากปริมาณน้ำที่มีอยู่ 78 ล้านลบม.ที่ยังไม่รวมน้ำผันมาจากอ่างเก็บน้ำประแสร์อีก 62  ล้านลบ.ม. และปริมาณน้ำฝนที่ไหลลงอ่างฯปกติตามเกณฑ์ต่ำสุดอีก 57 ล้านลบ.ม. ดังนั้นเมื่อรวมปริมาณน้ำทั้ง 3 อ่างฯ จะมีน้ำสำรองไว้197 ล้านลบ.ม.

    

      นอกจากนี้หลังเดือนมิถุนายน 2563  ถ้าฝนยังไม่ตก กรมชลประทานเตรียมผันน้ำ 3 ด้าน คือผันน้ำมาจากคลองสะพาน เป็นแหล่งน้ำของชาวบ้านจะผันได้จำนวน 20 ล้านลบ.ม.ตามเกณฑ์ต่ำสุดต่อเดือน  และผันน้ำมาจากคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี จะผันได้จำนวน 14 ล้านลบ.ม. รวมถึงเอามาจากน้ำฝนที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำประแสร์จำนวน 20 ล้านลบ.ม.ตามเกณฑ์ต่ำสุดต่อเดือน จะได้น้ำที่ผันมาเพิ่มมาใส่ใน 3 อ่างเก็บน้ำ ก็จะสามารถยืดเวลาได้อีก 2 เดือนจากเดือนมิถุนายน ขยับได้ถึงเดือนสิงหาคม2563 ก็จะพอดีกับฤดูฝน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16 - 18 มกราคม พ.ศ. 2563