ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทุบส่งออกข้าวตํ่าสุดรอบ7ปี

18 ม.ค. 2563 | 06:40 น.

ภัยแล้ง-บาทแข็ง-สถานการณ์อิหร่าน-สหรัฐฯ ฉุดส่งออกข้าวไทย คาดปี 63 วูบเหลือ 7.5 ล้านตันตํ่าสุดรอบ 7 ปี ขณะที่การแข่งขันด้านราคาเสียเปรียบหนักรอบ 10 ปี ตลาดอิรักเคว้ง ชะลอเซ็นเอ็มโอยูไม่มีกำหนด พาณิชย์ไม่ท้อกางแผนลุยแอฟริกา-ญี่ปุ่น

 

ผลกระทบภัยแล้ง สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยคาดผลผลิตข้าวไทยในภาพรวมปี 2563 จะลดจากประมาณ 30 ล้านตันในปี 2562 เหลือ 26-28 ล้านตันข้าวเปลือก อีกด้านสถานการณ์หนักไม้แพ้กันคือการส่งออกข้าวไทยที่คาดปี 2563 จะส่งออกระดับ 7 ล้านตัน ปัจจัยหลักจากเงินบาทแข็งค่า ราคาข้าวไทยสูงโด่งเสียเปรียบในการแข่งขัน สงครามการค้า สถานการณ์สหรัฐฯ-อิหร่านที่คาดยังฉุดให้เศรษฐกิจ การค้าโลกชะลอตัว จีนคู่ค้ากลายเป็นคู่แข่งส่งออกข้าว

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน แม้สถานการณ์เวลานี้ดูมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ผลกระทบส่งออกในตะวันออกกลาง ซึ่งมีข้าวเป็นหนึ่งในสินค้าหลักแน่นอนว่าอาจมีผลกระทบบ้างหากมีการปิดช่องทางเดินเรือ แต่หากไม่มีการปิดก็คงไม่กระทบมาก

สำหรับการส่งออกข้าวไทยไปตะวันออกกลางปี 2562 (11 เดือนแรก) มีปริมาณ 4.1 แสนตัน มูลค่า 215 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปี 2561 ทั้งปีส่งออกได้ 4.8 แสนตัน มูลค่า 252 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่าลดลงทั้งปริมาณและมูลค่า ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรกปี 2562 ไทยส่งออกข้าวไปอิหร่าน 10,208 ตัน มูลค่า 7.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปี 2561 ส่งออกปริมาณ 9,189 ตัน มูลค่า 7.07 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ปริมาณและมูลค่าจะเพิ่มขึ้นแต่ภาพรวมถือว่าไม่สูงมาก

 

ส่วนการส่งออกไปตลาดอิรัก ที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีนโยบายให้ไปฟื้นตลาดส่งออก หลังจากที่อิรักไม่นำเข้าข้าวไทยมาหลายปีจากปัญหาเรื่องคุณภาพข้าว ล่าสุดช่วงปลายปี 2562 กระทรวงพาณิชย์ได้เดินทางไปเจรจากับผู้นำเข้าของอิรักและเกือบจะมีการลงนามเอ็มโอยูการันตีคุณภาพข้าวไทย แต่สุดท้ายก็ยกเลิกไปเนื่องจากอิรักติดปัญหาการเมืองภายในจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ซึ่งจากข้อมูลของกรมศุลกากร อิรักนำเข้าข้าวไทยในปี 2561 ปริมาณ 28,723 ตัน มูลค่า 11.27 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในปี 2562 (11 เดือน) ปริมาณ 86,023 ตัน มูลค่า 34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ด้านนายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า จากความขัดแย้งสหรัฐฯ-อิหร่าน เวลานี้ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกข้าวไทยไปตะวันออกกลางจากสายเดินเรือบางสายปรับค่าระวางเรือขึ้นตามต้นทุนนํ้ามัน จะทำให้ต้นทุนของผู้ส่งออกสูงขึ้น ผู้ซื้อในแถบตะวันออกกลางอาจจะหันไปซื้อข้าวจากประเทศคู่แข่งขันที่มีการขนส่งที่สะดวกและใกล้กว่าแทน เช่น อินเดีย ปากีสถาน ทำให้ข้าวไทยขายยากขึ้น

 

ปัจจัยเสี่ยงรุมเร้า ทุบส่งออกข้าวตํ่าสุดรอบ7ปี

 

ตลาดอิรัก เดิมกระทรวงพาณิชย์วางแผนไว้จะมีการลงนามเรื่องการการันตีคุณภาพข้าว แต่มีปัญหาเรื่องเปลี่ยนรัฐบาลในอิรักทำให้การลงนามเอ็มโอยูต้องหยุดไปก่อนเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก

สำหรับสถานการณ์การส่งออกข้าวปี 2562 น่าจะอยู่ที่ 7.6-7.7 ล้านตันจากเป้าส่งออกที่ 8 ล้านตัน ส่วนปี 2563 คาดการส่งออกไว้ที่ 7.5 ล้านตัน (ตํ่าสุดรอบ 7 ปีนับจากปี 2556) ปัจจัยหลักจากค่าบาทที่ยังผันผวนในทิศทางที่แข็งค่า ทำให้ราคาข้าวส่งออกของไทยสูงกว่าคู่แข่งทั้งเวียดนาม และอินเดียเฉลี่ย 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน

ราคาข้าวขาว 5% ส่งออก ของไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 420-425 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน เวียดนาม 360 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน อินเดีย 365 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ที่ถูกสุดคือข้าวเมียนมา 330-335 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ทำให้มาเลเซียซึ่งเดิมเคยซื้อข้าวไทยและเวียดนาม หันไปซื้อข้าวเมียนมาเพิ่มขึ้น ปีนี้การส่งออกข้าวไทยโดยเฉพาะการแข่งขันในเรื่องราคา น่าจะเสียเปรียบและหนักสุดในรอบ 10 ปี เพราะมีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาในตลาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจีนปีที่แล้วส่งออกข้าว 5% ซึ่งเป็นข้าวเก่าไป 3.5 ล้านตัน ทำให้ไทยเสียตลาดแอฟริกาไปบางส่วน และปีนี้คาดจีนจะส่งออกเพิ่ม

 

 

สำหรับแผนการตลาด หลังจากที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้เข้าพบกับนายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) เพื่อหารือถึงแผนการเจาะตลาด โดยเบื้องต้น ในช่วงวันที่ 4-6 กุมภาพันธ์ จะนำคณะภาคเอกชนไปพบกับหน่วยงานภาครัฐของญี่ปุ่น เพื่อหารือและแก้ปัญหาข้าวไทยในตลาดญี่ปุ่นโดยแต่ละปีญี่ปุ่นนำเข้าข้าวไทยประมาณ 2 แสนตัน ช่วงมีนาคม มีแผนจะไปตลาดแอฟริกาใต้มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,540 วันที่ 16-18 มกราคม 2563