แล้งลามฟาร์มหมู-ไก่อ่วม แห่ซื้อ‘นํ้าใช้’ดันต้นทุนพุ่ง

14 ม.ค. 2563 | 23:30 น.

แล้งหนักฟาร์มหมู-ไก่ เริ่มขาดแคลนนํ้ากินนํ้าใช้ถึงขั้นต้องซื้อกันแล้ว โอดเพิ่มต้นทุนวันละกว่า 6,000 บาท กุ้งลุ้นอีก 3 เดือนประเมินผลกระทบชัด ข้าว ยาง มัน คาดผลผลิตวูบถ้วนหน้า


สถานการณ์ภัยแล้งเริ่มลาม กระทบทุกภาคส่วน นํ้าประปาเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีรสกร่อยจากแล้งนํ้าทะเลหนุนสูงนํ้าเค็มทะลักเข้าแหล่งนํ้าดิบทำประปา นํ้าในเขื่อนน้อยใหญ่ทั่วประเทศภาพรวมเหลือนํ้าใช้การได้เพียง 20-40% ของความจุ เกษตรกรขาดแคลนนํ้าในการเพาะปลูก ที่ปลูกแล้วเสี่ยงเสียหาย เกษตรกรขาดรายได้ สวนทางกับราคาพืชผักเพื่อการบริโภคกำลังปรับตัวสูงขึ้น ขณะภาคปศุสัตว์ถึงขั้นต้องซื้อนํ้ากินนํ้าใช้ในฟาร์มแล้ว

ฟาร์มหมู-ไก่วิกฤติ

นายสุรชัย สุทธิธรรม นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากภัยแล้งนํ้าขาดแคลนส่งผลให้ฟาร์มเลี้ยงสุกรที่เป็นสมาชิกของสมาคมทั่วประเทศเวลานี้สัดส่วน 80% เริ่มขาดแคลนนํ้ากินและนํ้าใช้ทำความสะอาดในฟาร์มในบางจังหวัด เช่น ชลบุรีฝนไม่ตกมาหลายเดือนแล้ว รวมถึงฉะเชิงเทราที่มีนํ้าเค็มหนุน ทำให้ต้องซื้อนํ้าจากรถบรรทุกนํ้าที่นำมาขาย ราคาตามระยะทาง เฉลี่ย 1 เที่ยวปริมาณ 1 หมื่นลิตรอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท ซึ่งฟาร์มขนาดเล็กต้องใช้ 2 เที่ยวต่อวัน ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6,000 บาทต่อวัน หากเป็นฟาร์มใหญ่ขาดแคลนนํ้ามาก ต้นทุนนํ้าก็จะสูงขึ้นมาก

“ฟาร์มหมูในพื้นที่ภาคตะวันออก รวมถึงในภาคอีสานเริ่มขาดแคลนนํ้ากินนํ้าใช้ และต้องซื้อหากยังต้องเลี้ยงหมู คงต้องทนแบกภาระไปจนกว่าฝนจะตก”

นางฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ กล่าวว่า แม้ฟาร์มเลี้ยงไก่ส่วนใหญ่จะมีการขุดบ่อนํ้าไว้ใช้เอง แต่เวลานี้นํ้าในบ่อลดลงอย่างมาก หากไม่มีนํ้าเติมคาดอีก 2 สัปดาห์จากนี้ในภาพรวมนํ้าในบ่อจะเหลือไม่ถึง 50% ของความจุ บางรายนํ้าแห้งขอดเริ่มซื้อนํ้ากินนํ้าใช้ในฟาร์มกันแล้ว ขณะที่โรงงานชำแหละและแปรรูปที่มีฟาร์มเลี้ยงไก่ของตัวเองบางรายก็เริ่มซื้อนํ้าใช้แล้ว เช่น ในพื้นที่ชลบุรี ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นซํ้าเติมจากเดิมที่ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ต้องจ่ายค่าจ้างขั้นตํ่าเพิ่มขึ้น

 

กุ้งลุ้น 3 เดือนภาพชัด

ขณะที่นายสมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย กล่าวว่า การเลี้ยงกุ้งของไทย ส่วนใหญ่ในปีที่ผ่านมาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง (33%) ภาคตะวันออก (30%) ภาคใต้ตอนบน (25%) และภาคกลาง (2%) มีผลผลิตกุ้งประมาณ 2.9 แสนตัน ปี 2563 คาดจะมีผลผลิตเพิ่มเป็น 3.5 แสนตัน เวลานี้ภัยแล้งกระทบกับนํ้าที่ใช้เลี้ยงกุ้งขาดแคลนบ้างแต่ยังไม่มาก
ส่วนใหญ่ได้เตรียมนํ้าสำรองกันไว้แล้ว ขอดูสถานการณ์นํ้าอีก 3 เดือนข้างหน้าว่าจะเป็นอย่างไร จะเห็นภาพผลกระทบที่ชัดเจนขึ้น


แล้งลามฟาร์มหมู-ไก่อ่วม  แห่ซื้อ‘นํ้าใช้’ดันต้นทุนพุ่ง

ข้าว-ยาง-มันผลิตลด

ด้านสินค้าเกษตร นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ประเมินภัยแล้งจะกระทบผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังรอบที่ 1 (เก็บเกี่ยวปลายมี.ค.-ต้น เม.ย.) จากที่เคยมีผลผลิตประมาณ 5 ล้านตันต่อปี คาดปีนี้ผลผลิตจะลดลงไป 20% หรือเหลือ 3.5-4 ล้านตัน ส่วนข้าวนาปรังรอบ 2 (เก็บเกี่ยวช่วงก.ย.-ต.ค.) ปกติมีผลผลิตราว 3 ล้านตัน ยังยากที่จะประเมินผลผลิต ต้องรอดูช่วงฤดูฝน (พ.ค.-ต.ค.) จะมีนํ้าทำนามากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ดีจากผลกระทบภัยแล้งต่อภาพรวมผลผลิตข้าวของไทยปีนี้ทั้งนาปรัง-นาปี คาดจะอยู่ที่ 26-28 ล้านตัน จากปี 2562 อยู่ที่ประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก

นายสุนทร รักษ์รงค์ เลขาธิการสภาเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สคยท.) กล่าวว่า จากที่เกิดโรคใบร่วงในยางพาราระบาด ปัจจุบันทำให้ผลผลิตยางพาราของไทยเสียหายแล้วกว่า 7.6 แสนไร่ (นราธิวาสหนักสุดราว 7 แสนไร่) ภัยแล้งและเข้าฤดูปิดกรีดยางแล้วในภาคเหนือและภาคใต้จะเริ่มปิดกรีดปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ล่าสุดทางสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลผลิตยางพาราของไทยปี 2563 เหลือ 4.9 ล้านตัน จากเดิมคาด 5.1 ล้านตัน จะทำให้เกษตรกรมีรายได้ และกำลังซื้อลดลง ต้องหารายได้เสริมมากขึ้น

นางสุรีย์ ยอดประจง กรรมการและที่ปรึกษาสมาคมการค้ามันสำปะหลังไทย กล่าวว่า จากนํ้าท่วมภาคอีสานก่อนหน้านี้ เกษตรกรได้ขุดหัวมันหนีนํ้า ปัจจุบันยังมีการระบาดของโรคใบด่างในมันสำปะหลังหลายพื้นที่ ล่าสุดเกิดสถานการณ์ภัยแล้งทั่วประเทศ คาดจะทำให้ผลผลิตหัวมันสดของไทยในปี 2562/2563 จากที่สมาคมคาดการณ์ไว้ 27-28 ล้านตัน จะลดลงเหลือ 24-25 ล้านตัน

“ผลกระทบภัยแล้งโรงงานขาดแคลนนํ้าใช้ ราคาส่งออกมันไม่เอื้อ และไม่สามารถแข่งขันได้จากเงินบาทแข็งค่า โรคใบด่างยังระบาด มีผลถึงหัวมันของเกษตรกรเสียหาย และมีคุณภาพเชื้อแป้งต่ำ ส่งผลให้โรงงานผลิตแป้งมันหลายโรงในเขตชลบุรี ระยอง รวมถึงในภาคอีสานได้หยุดเดินเครื่องผลิตแล้วในเวลานี้”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2563