จับตาBTSฟ้องกลับผิดจัดซื้อจัดจ้าง อู่ตะเภาส่อลากยาว

13 ม.ค. 2563 | 01:20 น.

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา 2.9 แสนล้าน ส่อวุ่น หลังศาลปกครองให้สิทธิกลุ่มซีพี กลับมาประมูลโครงการ ผู้รับเหมาแนะ บีทีเอส กรมบัญชีกลางฟ้องกลับ สร้าง 2 มาตรฐานจัดซื้อจัดจ้าง ชี้กลุ่มซีพีจะชนะได้ต้องเสนอผลตอบแทนให้รัฐสูงกว่า 3.05 แสนล้าน

 

ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา เพิกถอนมติของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ที่ไม่รับซองข้อเสนอซองที่ 2 (กล่องที่ 6) ซึ่งเป็นข้อเสนอทางเทคนิคและแผนธุรกิจและซองที่ 3 (ข้อเสนอกล่องที่ 9) ซึ่งเป็นข้อเสนอด้านราคาของบริษัท ธนโฮลดิ้งฯ บริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี กับพวกรวม 5 คน ในการยื่นซองเข้าร่วมโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้าน เนื่องจากยื่นเอกสารเลยระยะเวลาตามที่กำหนด

การพิจารณาของศาลดังกล่าว ส่งผลให้กลุ่มธนโฮลดิ้ง กลับเข้ามามีสิทธิในการประมูลอีกครั้ง และคณะกรรมการคัดเลือกฯ จะไปดำเนินการเปิดซองข้อเสนอแต่ละซองต่อไป หลังจากที่ได้เปิดซองที่ 1 ด้านคุณสมบัติ และซอง 2 ด้านเทคนิค และซอง 3 ด้านราคา ของผู้ยื่นประมูลทั้ง 2 กลุ่มไปแล้ว ได้แก่ กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส (BBS Joint Venture) หรือกลุ่มบีทีเอส และกลุ่ม Grand Consortium

จับตาBTSฟ้องกลับผิดจัดซื้อจัดจ้าง อู่ตะเภาส่อลากยาว

แนะบีทีเอสฟ้องกลับ

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า การให้สิทธิ กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัท ธนโฮลดิ้ง จำกัด หรือกลุ่มซีพี และพันธมิตร กลับสู่กระบวนการประมูลสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบิน อาจขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดซื้อจัดจ้างงานรัฐ เพราะกฎหมายระบุชัดเจน บนพื้นฐานความเป็นธรรม หากยื่นเอกสารการประมูลเลยเวลาที่กำหนดเพียงเสี้ยววินาทีเดียว จะถูกตัดสิทธิไม่รับซอง แต่กรณีกลุ่มซีพียื่นช้าไปถึง 9 นาที ทำให้เกิดความวุ่นวาย และเป็น 2 มาตรฐานเกิดขึ้น

ทั้งนี้ เห็นว่า กลุ่มบีทีเอส และกลุ่ม Grand Consortium ในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ประมูลโครงการ และกรมบัญชีกลาง ในฐานะเจ้าของกฎหมาย ควรยื่นฟ้องศาล เพื่อไม่ให้เกิดบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งมั่นใจว่ากลุ่มบีทีเอส กำลังมองหาช่องฟ้องกลับ เกี่ยวกับการปฏิบัติขัดต่อกฎหมายจัดซื้อจัดจ้างโครงการนี้อยู่

“พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้าง ทุกคนทราบการยื่นเอกสารช้าไป 1 วินาที 1 นาที เค้าไม่รับซอง ขณะเดียวกันเอกชนรับทราบข้อกำหนดและเวลาที่ต้องเตรียมตัวให้พร้อมบนพื้นฐานความเป็นธรรม”

 

กลุ่มแกรนด์ฯจุกนํ้าท่วมปาก

นายชายนิด อรรถญาณสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม ประกอบด้วย บมจ.แกรนด์ แอสเสท โฮเทลส์ แอนด์ พรอพเพอร์ตี้ (GRAND) บมจ.คริสเตียนี และนีลเส็น(ไทย) และบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ยอมรับคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดที่คืนสิทธิให้กลุ่มธนโฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ได้ไปต่อในโครงการประมูลสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เพราะคำพากษาของศาลปกครองสูงสุด ถือว่าศาลตัดสินสิ้นสุดแล้ว

จากนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะต้องนำข้อเสนอซองที่ยื่นเกินเวลาไป ของกลุ่มธนโฮลดิ้งมาพิจารณาต่อไป ซึ่งกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม ไม่สามารถไปฟ้องร้องอะไรได้อีก เนื่องจากหากฟ้องก็จะเป็นการฟ้องคดีซํ้า เพราะเป็นประเด็นเดียวกับที่คณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งเป็นคู่กรณีกับกลุ่มธนโฮลดิ้ง แพ้คดีไป

จับตาBTSฟ้องกลับผิดจัดซื้อจัดจ้าง อู่ตะเภาส่อลากยาว

ดังนั้น คงต้องรอผลการพิจารณาของคณะกรรมการคัดเลือกฯ ต่อไป ซึ่งที่ผ่านมามีการเปิดซองข้อเสนอราคา(ซอง 3) ของกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม และกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสไปแล้ว ต่อไปทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ ก็ต้องเปิดซอง 3 ของกลุ่มธนโฮลดิ้ง ที่มีการจัดเก็บไว้อยู่แล้ว ตั้งแต่วันที่เปิดให้ยื่นซองประมูล การแก้ไขหรือเปลี่ยนซองจะทำไม่ได้ ซึ่งคงต้องรอดูว่ากลุ่มธนโฮลดิ้งจะเสนอราคามาเท่าไหร่

ทั้งนี้ คาดว่าราวเดือนกุมภาพันธ์นี้ น่าจะมีการประกาศผู้ชนะการประกวดราคาได้ ซึ่งผู้เสนอผลตอบแทนในการยื่นประมูลสูงสุด ไม่ได้หมายว่าจะต้องเป็นผู้ชนะการประมูลเสมอไป เพราะต้องมีการพิจารณาในเรื่องของความเป็นไปได้ในการเสนอราคาด้วยว่า สามารถทำได้จริงหรือไม่ด้วย

จับตาBTSฟ้องกลับผิดจัดซื้อจัดจ้าง อู่ตะเภาส่อลากยาว

ลุ้นซีพีเสนอเกิน3.05 แสนล.

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยว่า คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯจะดำเนินการนัดประชุมเพื่อพิจารณาเอกสารกล่อง 6 (ซอง 2) ของกลุ่มธนโฮลดิ้ง ซึ่งก็มีแนวโน้มสูงว่ากลุ่มธนโฮลดิ้ง จะผ่านคุณสมบัติซอง 2

จากนั้นจะนัดหมายวันเปิดเอกสารกล่อง 9 (ซอง 3) ของกลุ่มธนโฮลดิ้ง โดยจะมีการเชิญเอกชน 2 รายที่มีการเปิด
ซองราคาไปก่อนหน้านี้แล้ว เข้ามาร่วมเปิดราคาของกลุ่มธนโฮลดิ้ง ด้วย ซึ่งซองเอกสารทั้งหมดรวมถึงส่วนที่ยื่นเกินเวลาไป ได้ถูกเก็บไว้ในห้องมั่นคงตั้งแต่วันที่เปิดให้ยื่นประมูล ที่มีเวรยามและเปิดกล้องวงจรปิดตลอด 24 ชั่วโมง

“การที่ศาลปกครองสูงสุด มีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกฯรับซองที่เกินเวลาของกลุ่มธนโฮลดิ้งมาพิจารณา จะทำให้กลุ่มธนโฮลดิ้ง เข้าสู่การแข่งขันได้ เช่นเดียวกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และกลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตียม หากกลุ่มธนโฮลดิ้ง จะชนะการประมูลได้ จะต้องเสนอผลตอบแทนให้รัฐเกินกว่าหรือใกล้เคียง 3.05 แสนล้านบาท เพราะในการเปิดซอง ราคาของกลุ่มแกรนด์ คอนซอร์เตียม และกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ก่อนหน้านี้ แม้จะยังไม่มีการเปิดเผยราคาออกมา แต่วงในทราบดีว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เสนอผลตอบแทนอยู่ที่ 3.05 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตียม เสนอผลตอบแทนราว 1 แสนล้านบาท”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,539 วันที่ 12 - 15 มกราคม พ.ศ. 2563