“เฉลิมชัย”ชู 9 เรื่องเร่งด่วน  ปฏิวัติภาคเกษตร

02 ม.ค. 2563 | 10:42 น.

ทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 2563 นอกจากปัจจัยภายนอกยังอยู่ในอาการน่าเป็นห่วง จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้ายังไม่สงบ กระทบส่งออกไทย ขณะที่เศรษฐกิจในประเทศ ยังเผชิญปัจจัยลบรุมเร้า ไม่ว่าเงินบาทแข็งค่า การขึ้นค่าแรง หนี้ครัวเรือน ภัยแล้ง ถือเป็นโจทย์ท้าทาย หนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาลจึงเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้เข้มแข็ง ผ่านการผลักดันของ 5 กระทรวงเศรษฐกิจหลักหนึ่งในนั้นคือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

“เฉลิมชัย”ชู 9 เรื่องเร่งด่วน   ปฏิวัติภาคเกษตร

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงนโยบายขับเคลื่อนภาคการเกษตร ปี 2563-2564 ว่า ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาล ทั้งนโยบายเร่งด่วนและนโยบายหลักใน 9 เรื่องสำคัญ ตามแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตร ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้

1. จัดตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศการเกษตรแห่งชาติ โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นหน่วยงานหลัก ในการบริหารจัดการข้อมูล เชื่อมโยงฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน ทั้งจากหน่วยงานภายในและนอกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้บริการแก่ภาครัฐ ภาคเอกชน เกษตรกร และประชาชนทั่วไปในการตัดสินใจ

“เฉลิมชัย”ชู 9 เรื่องเร่งด่วน   ปฏิวัติภาคเกษตร

2. จัดทำผังเมืองเกษตร โดยทำแผนการบริหารจัดการสินค้าเกษตรครบวงจร เน้นสินค้าสำคัญ 7 ชนิด (ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มนํ้ามัน สับปะรด และมะพร้าว) กำหนดเขตการผลิต สินค้าเกษตรตามความเหมาะสมของพื้นที่ทั้งทางด้านกายภาพ (ดิน นํ้า) และด้านเศรษฐกิจ

3. ส่งเสริมพืช/อาหารอนาคต ที่มีศักยภาพ ตลาดมีความต้องการ มีอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และให้ผลตอบแทนสูง

4. ส่งเสริมการบริโภค/ผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยและเกษตรอินทรีย์ เน้นขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ

5. สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร โดยขับเคลื่อนแผนแม่บทเกษตรภายใต้ยุทธศาสต์ชาติ ซึ่งมีการส่งเสริมการผลิต เน้นตามศักยภาพของพื้นที่

“เฉลิมชัย”ชู 9 เรื่องเร่งด่วน   ปฏิวัติภาคเกษตร

6. บริหารจัดการพื้นที่เสี่ยงจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งภัยแล้ง นํ้าท่วม

7. บริหารจัดการทรัพยากรเพื่อการเกษตรทั้งระบบอย่างยั่งยืน ได้แก่ ทรัพยากรนํ้า ทรัพยากรดิน การจัดที่ดินทำกินให้แก่เกษตรกร รวมทั้งผลักดันร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

8. จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีทางการเกษตร ในพื้นที่ 77 จังหวัด และหน่วยให้บริการทางการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงบริการทางการเกษตรได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น และ

9. พัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการเกษตร โดยพัฒนาระบบการจัดการผลผลิตทั้งก่อนและหลัง การเก็บเกี่ยว จัดหาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์สินค้าเกษตรเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์ในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และระหว่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,536 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2563