“ศุภชัย”แนะรัฐสู้ศึกปี 63 ดันเศรษฐกิจไทยยังบวก

12 ธ.ค. 2562 | 09:06 น.

“ศุภชัย” ชี้เศรษฐกิจ-ส่งออกไทยปี 63 ยังมีโอกาสเป็นบวก เชียร์พาณิชย์เดินถูกทางเร่งเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ เพิ่มโอกาสขยายตัวทางการค้าสู้เศรษฐกิจโลกทรุด ดันอีอีซีเดินหน้าดึงลงทุน ใช้โอกาสบาทแข็งค่าเพิ่มประสิทธิภาพเทคโนโลยี แนะรัฐกระตุ้นเศรษฐกิจต้องก่อให้เกิดการลงทุนด้วย

ดร.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ( UNCTAD) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) กล่าวว่า การที่กระทรวงพาณิชย์จะเร่งผลักดันกรอบเจรจาการค้าเสรี(เอฟทีเอ) กับประเทศต่างๆในประเด็นนี้เห็นด้วย เนื่องจากเป็นการช่วยผลักดันการค้าและเศรษฐกิจไทยในปีหน้าได้เป็นอย่างดี แม้การเจราจรในกรอบต่าง ๆ อาจจะต้องใช้เวลาบ้าง แต่ก็ยังต้องการให้เดินหน้า เช่น  สหภาพยุโรป (อียู) ตะวันออกกลาง และแอฟริกา หรือแม้กระทั่งประเทศจีน อินเดีย ตุรกี  เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

“ศุภชัย”แนะรัฐสู้ศึกปี 63 ดันเศรษฐกิจไทยยังบวก

 

"การเจรจาเป็นสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันหากเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามซึ่งมีโอกาสทางการค้ามากกว่าจึงเป็นสิ่งที่ประเทศไทยอาจจะต้องหาสิทธิประโยชน์เข้ามาช่วยเหลือ จะเป็นกรอบเจรจาในรูปแบบหลายประเทศหรือในรูปแบบของกลุ่มประเทศใหญ่ เป็นสิ่งที่จะต้องเร่งทำ ให้มากขึ้นและปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้มีการเร่งผลักดันในกรอบต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ดีและต้องทำอย่างต่อเนื่อง"

 

สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ยังมีโอกาสที่จะขยายตัวเป็นบวก รวมไปถึงภาคการส่งออกหากประเทศไทยมีการเดินหน้าผลักดันสร้างความเข้มแข็งทั้งภายในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในนโยบายสำคัญ เช่น การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ที่ต้องการให้มีความชัดเจนและต่อเนื่อง เพื่อดึงโอกาสการค้า การลงทุนเข้ามาให้มากขึ้น ส่วนนโยบายในเรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควรพิจารณาในองค์ประกอบที่สำคัญ เพราะจากนโยบายที่ผ่านมาไม่ได้สามารถกระตุ้น เศรษฐกิจ หรือก่อให้เกิดการลงทุนในภาคเอกชนมากนัก

 

โดยจะเห็นได้ว่าหนี้ครัวเรือนของประเทศไทยยังปรับตัวสูงขึ้น นั่นเป็นเหตุสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือการจับจ่ายใช้สอยของภาคประชาชน ในขณะที่นโยบายการเงินในเรื่องของการลดอัตราดอกเบี้ยยังเห็นว่าในปีหน้า อาจจะไม่มีแนวนโยบายที่ปรับลดดอกเบี้ยลง จากปัจจัยภายในและภายนอกที่ส่งผลกระทบ แต่สิ่งที่ให้ความสำคัญมองว่าอาจจะต้องพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยให้มาอยู่ในอัตราเดิม เพื่อศักยภาพในการแข่งขัน

 

ในส่วนของปัญหาอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นแรงฉุดในเรื่องของการแข่งขันหรือการส่งออกมองว่าควรจะนำจุดแข็งที่เงินบาทแข็งค่า เพิ่มศักยภาพให้กับการแข่งขันภายในหรือประสิทธิภาพให้กับผู้ประกอบการในด้านการผลิตหรือเทคโนโลยีให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ โดยแนวโน้มโอกาสที่ค่าเงินบาทอ่อนค่าอาจจะเห็นอยู่ที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อย่างไรก็ดีไม่ต้องการให้ผู้ประกอบการหรือผู้ส่งออกมองว่าค่าเงินบาทเป็นตัวฉุดการขยายตัวของภาคส่งออกแต่ต้องการให้ดึงเรื่องของค่าเงินบาทเสริมความแข็งแกร่งในการแข่งขันในตลาดโลก