ทล.ยันยกระดับมอเตอร์เวย์ ไม่เกี่ยวนอร์ทเทอร์มินัลทอท.

11 ธ.ค. 2562 | 09:16 น.

กรมทางหลวง แจงกรณีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไม่เกี่ยวข้องกับแผนก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

 

นายสราวุธ  ทรงศิวิไล  อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่า ตามที่ได้มีประชาชนแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสาธารณะและสังคมออนไลน์เกี่ยวกับแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (North Expansion) โดยบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ซึ่งระบุว่าจะเป็นเหตุทำให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดบนทางหลวงพิเศษหรือมอเตอร์เวย์หมายเลข 7 ช่วงจากถนนศรีนครินทร์ถึงทางเข้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จนทำให้กรมทางหลวงจะต้องลงทุนก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์ –    ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 นั้น  
  ทล.ยันยกระดับมอเตอร์เวย์ ไม่เกี่ยวนอร์ทเทอร์มินัลทอท.    

กรมทางหลวงขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนี้

 

1. แนวคิดการก่อสร้างทางยกระดับ ช่วงศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 เริ่มมาตั้งแต่ปี 2551 โดยเป็นส่วนหนึ่งของ“โครงการทางพิเศษสุวรรณภูมิ (โครงการ M1)” ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่งได้ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โดยผลการศึกษาที่สรุปในปี 2552 ได้กำหนดแนวเส้นทางที่เหมาะสมช่วง M1-1 เป็นทางยกระดับคร่อมอยู่บนแนวมอเตอร์เวย์หรือทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ในปัจจุบัน จากถนนศรีนครินทร์มาจนถึงทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ     ซึ่งต่อมาในปี2557 กรมทางหลวงได้นำแนวคิดดังกล่าวมาทบทวนและประกอบการพิจารณาในการศึกษาความเหมาะสมฯ โครงการทางยกระดับ ช่วงศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ของกรมทางหลวง   

 

 2. ปริมาณการเดินทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ภาคตะวันออก เป็นสาเหตุหลักของปัญหาจราจรติดขัดปัจจุบัน ไม่ใช่ปริมาณจราจรการเข้าออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ช่วงทางแยกต่างระดับศรีนครินทร์ถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ในปัจจุบันมีปริมาณจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วนอยู่ในสภาพใกล้เต็มความจุของถนนแล้ว และส่วนใหญ่เป็นการเดินทางระยะไกลมุ่งหน้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออก ดังนั้น ปริมาณการเดินทางเข้าและออกท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จึงไม่ใช่สาเหตุหลักของปัญหาการจราจรติดขัดบนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 บริเวณช่วงดังกล่าว

     

3.แผนการก่อสร้างโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ของกรมทางหลวง เป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของระบบขนส่งทางถนนเพื่อเชื่อมต่อโครงข่ายการเดินทางจากเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลไปยังพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และรองรับการขยายตัวของปริมาณผู้เข้าใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งมีแนวโน้มการขยายตัวของผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  โดยไม่ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของการพัฒนาอาคารผู้โดยสารภายในพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื่องจากปริมาณผู้เข้าใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในปัจจุบันส่วนใหญ่มาจากพื้นที่เศรษฐกิจชั้นในของกรุงเทพมหานครและใช้เส้นทางคมนาคมด้านทิศเหนือผ่านมอเตอร์เวย์หรือทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 โดยตรงอยู่แล้ว ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วในการเดินทางมากกว่าเส้นทางคมนาคมด้านทิศใต้

   

ทล.ยันยกระดับมอเตอร์เวย์ ไม่เกี่ยวนอร์ทเทอร์มินัลทอท.  

 

ดังนั้น การก่อสร้างหรือปรับปรุงขยายอาคารผู้โดยสาร ณ บริเวณตำแหน่งใดก็ตาม คาดว่าจะไม่ทำให้แนวโน้มรูปแบบการเดินทางของผู้เข้าใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในภาพรวมเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ 
          ทล.ยันยกระดับมอเตอร์เวย์ ไม่เกี่ยวนอร์ทเทอร์มินัลทอท.

อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวต่อไปว่า โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ทางยกระดับช่วงศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) จึงเป็นโครงการที่กรมทางหลวงได้เริ่มเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่ปี 2557 และวางแผนที่จะดำเนินการอยู่แล้ว โดยมีเหตุผลความจำเป็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับแผนการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ภายในพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแต่อย่างใด