เล็งทุ่ม4พันล้าน พลังงานชุมชน

11 ธ.ค. 2562 | 23:30 น.

“สนธิรัตน์” เร่งคลอดพลังงานชุมชน เล็ง 4 โมเดล ผลิตไฟฟ้า และทดแทนแอลพีจี มุ่งส่งเสริมพื้นที่ห่างไกลไม่มีไฟฟ้าใช้ ประเดิมเบื้องต้น 460 แห่ง ใช้เงินกองทุนอนุรักษ์ฯ เข้ามาส่งเสริมกว่า 4 พันล้านบาท

 

 

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการจัดตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานราก ตามนโยบายของนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปแล้ว โดยจะนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้ พร้อมด้วยการปรับหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ที่จะนำมาใช้ในการส่งเสริมพลังงานทดแทนให้มากขึ้น โดยเฉพาะการนำมาใช้สำหรับการส่งเสริมพลังงานชุมชนหรือสถานีพลังงาน ที่กระทรวงพลังงานจะเข้าไปส่งเสริมในพื้นที่ห่างไกลได้มีไฟฟ้าใช้อย่างทั่วถึง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การส่งเสริมพลังงานชุมชนขณะนี้ได้มอบหมายให้พลังงานจังหวัดไปเร่งสำรวจพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้า และพื้นที่ปลายสายส่งที่มีปัญหาไฟฟ้าตก-ดับบ่อยครั้ง เพื่อนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการส่งเสริมตั้งโรงไฟฟ้าขนาดขนาดเล็ก และการผลิตเชื้อเพลิงเพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) โดยจะนำเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เข้าไปสนับสนุนค่าใช้จ่าย 100% เพื่อให้มีไฟฟ้าใช้ นำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มหรือรายได้ให้กับครอบครัว

“เพื่อให้ทุกพื้นที่เข้าถึงพลังงาน ตามนโยบายพลังงานเพื่อทุกคน หรือ Energy for All ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้มีประมาณ 40 จังหวัด 662 หมู่บ้าน 53,687 ครัวเรือน และมีพื้นที่อยู่ปลายสายส่งที่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยอีก 11 จังหวัด 52 หมู่บ้าน 60,599 ครัวเรือน ขณะที่บางชุมชนมีศักยภาพในการผลิตก๊าซชีวภาพ สามารถนำมาใช้ทดแทนแอลพีจี ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ซึ่งโครงการต่างๆอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการสนับสนุนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อขับเคลื่อนในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมในช่วงต้นปี 2563”

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำหรับการส่งเสริมพลังงานชุมชน ที่จะเริ่มดำเนินการในปีช่วงปี 2563-2565 ขณะนี้มีการเสนอ 4 แนวทาง ได้แก่ การส่งเสริมพลังงานชุมชนพึ่งตนเองในพื้นที่ห่างไกล เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองจากทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น จากพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล และพลังนํ้า ขนาด 50-100 กิโลวัตต์ ใช้งบลงทุน 10 ล้านบาทต่อแห่ง การส่งเสริมพลังงานชุมชนพึ่งตนเอง สำหรับพื้นที่นอกเขตบริการไฟฟ้า จากพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล และ
พลังนํ้า เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในชุมชน ขนาด 50-100 กิโลวัตต์ ใช้งบลงทุนแห่งละ 10 ล้านบาท โครงการพัฒนาวิสาหกิจพลังงานเพื่อสังคมสำหรับพื้นที่ปลายสายส่ง จากพลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะและพลังนํ้า ขนาด 150-300 กิโลวัตต์ ใช้งบลงทุนแห่งละ 27 ล้านบาท และโครงการพัฒนาวิสาหกิจพลังงานเพื่อการเกษตร-อุตสาหกรรมชุมชน ใช้งบลงทุนแห่งละ 5.5 ล้านบาท ที่เป็นการส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานความร้อนจากพลังงานหมุนเวียน ทดแทนก๊าซหุงต้ม และนํ้ามันเชื้อเพลิง ในครัวเรือน การเกษตรและอุตสาหกรรมชุมชน เช่น นำไปอบแห้งหรืออบใบชา เป็นต้น

สำหรับพลังงานชุมชนทั้ง 4 รูปแบบนี้ มีเป้าหมายที่จะดำเนินงานภายในปี 2563-2565 กำหนดไว้เบื้องต้นราว 460 โครงการ คาดว่าจะต้องใช้งบจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เข้ามาสนับสนุนกว่า 4 พันล้านบาท แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าในแต่ละพื้นที่จะมีศักยภาพในการดำเนินงานมากน้อยแค่ไหน และต้องรอชุมชนที่พลังงานจังหวัด ต้องไปสำรวจเพิ่มเติมเข้ามาอีก

“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ต้องการผลักดันให้พลังงานชุมชนเกิดขึ้นตามพื้นที่ห่างไกล ที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง หรือพื้นที่ที่อยู่ปลายสายส่ง มีปัญหาไฟดับบ่อยๆ รวมถึงการผลิตก๊าซชีวภาพ เพื่อทดแทนก๊าซหุงต้ม ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงต้นแบบพลังงานชุมชนใน 3 พื้นที่ ที่น่าจะนำไปขยายผลให้เกิดเป็นรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น โครงการพลังงานสร้างอาชีพแบบผสมผสาน ศูนย์พัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรและพลังงานทางเลือกกาญจนบุรี ที่ ต.ท่ามะขาม อ.เมือง จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติโดยใช้แนวคิดการเชื่อมโยงใช้พลังงานแบบผสมผสานในกระบวนการผลิตต่างๆ โดยใช้ทั้งพลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล รวมทั้งพลังงานขยะ เพื่อมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ โรงไฟฟ้าชุมชนที่อ.แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่นำเอาซังข้าวโพดมาอัดแท่น เป็นเชื้อเพลิงป้อนเข้าโรงไฟฟ้า และต้นแบบของชุมชนผาปัง อ.แม่พริก จ.ลำปาง ที่นำไผ่ซางหม่น ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่น มาผลิตเป็นถ่านเชื้อเพลิงทดแทนนํ้ามันสูบนํ้าเพื่อการเกษตร หรือนำถ่านไผ่ไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าชุมชนด้วยระบบ Gasification ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้เกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์จนได้ก๊าซหรือ Synthesis Gas ผลิตไฟฟ้าได้ และสามารถใช้แทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน (แอลพีจี) ลดรายจ่ายด้านพลังงาน”

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562