SMEจุกขึ้นค่าจ้าง 1,000 โรงงานจ่อปิด

12 ธ.ค. 2562 | 03:20 น.

 

เอสเอ็มอีร้องระงม ปรับขึ้นค่าจ้างรอบใหม่ ตัวเร่งปิดกิจการ สภาอุตฯจับตากว่าพันโรงออกอาการ หลังพิษบาทแข็ง ส่งออกทรุดทำโคม่า เจอต้นทุนเพิ่ม ภาคก่อสร้างชี้กระทบหนัก แรงงานต่างด้าวได้อานิสงส์

ที่ประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง(วันที่ 6 ธ.ค. 62) มีมติปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าเฉลี่ย 5-6 บาทต่อวันใน 77 จังหวัดทั่วประเทศหรือตํ่าสุด-สูงสุดที่ 313-336 บาทต่อวัน จากอัตราค่าจ้างขั้นตํ่าทั่วประเทศที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ตํ่าสุด-สูงสุดอยู่ที่ 308-330 บาทต่อวัน มติดังกล่าวกระทรวงแรงงานจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นของขวัญแก่ผู้ใช้แรงงาน อย่างไรก็ดีล่าสุดที่ประชุม ครม.วันที่ 11 ธันวาคม 2562 มีมติเห็นชอบกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2563 ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยแบ่งออกเป็น 10 กลุ่มจังหวัด อัตราค่าจ้างสูงสุดที่ 346 บาทต่อวัน(2 จังหวัดคือชลบุรี ภูเก็ต) และต่ำสุด 313 บาทต่อวัน (3 จังหวัด คือ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา) ซึ่งด้านหนึ่งลูกจ้างได้เฮถ้วนหน้า แต่อีกด้านนายจ้างมีภาระต้นทุนด้านค่าแรงเพิ่มขึ้น

ตัวเร่งSMEsปิดกิจการ

นายสุชาติ จันทรานาคราช รองประธาน และประธานคณะกรรมการสายแรงงาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากหลักเกณฑ์การพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าจะดูจาก 5 เรื่อง ได้แก่ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(จีดีพี) 2. อัตราเงินเฟ้อ 3. ความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง 4. ความจำเป็นของลูกจ้าง และ 5. ให้ฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัด

ทั้งนี้หากดูจีดีพีไทยปีนี้คาดจะขยายตัว 2.4% เงินเฟ้อ 0.8% ขณะที่ความสามารถในการจ่ายของผู้ประกอบการในภาพรวมแย่มาก อัตราค่าจ้างขั้นตํ่าตามหลักเกณฑ์การพิจารณาจะปรับได้ที่ 4-5 บาทต่อวัน ขณะที่คณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ปรับขึ้น 5-6 บาทต่อวัน(ข้อมูล ณ วันที่ 6 ธ.ค.62 ก่อน ครม.มีมติปรับขึ้นค่าจ้างใหม่)ถือว่าไม่สร้างปัญหาแก่นายจ้างมากนัก(โดยเฉพาะรายใหญ่) แต่จากปีนี้ที่ผู้ประกอบการซึ่งผลิตสินค้าส่งออกเป็นส่วนใหญ่ต้องเผชิญปัญหาส่งออกลดลงจากสงครามการค้า จากเงินบาทแข็งค่าขึ้นมา 8% ทำให้หลายรายต้องลดกำลังผลิต ลดเวลา หลายรายจ่ายค่าจ้างพนักงานเพียง 75%

“การปรับขึ้นค่าจ้างครั้งนี้แม้จะอยู่ในกรอบที่พอรับได้ แต่จะส่งผลด้านจิตวิทยา โดยจะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังตัดสินใจว่าจะไปต่อ หรือปิดกิจการตัดสินใจได้เร็วขึ้น เนื่องจากจะมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น สวนทางกับธุรกิจที่แย่ลง ครั้งนี้คาดจะมีโรงงานเอสเอ็มอีนับพันโรงจะตัดสินใจไม่ดำเนินธุรกิจต่อ”

นอกจากนี้จะเป็นตัวเร่งให้ผู้ประกอบการที่ใช้แรงงานมาก เช่น สิ่งทอ เครื่องนุ่งห่มจะขยายฐานไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังมีค่าแรงตํ่ากว่า เช่น เมียนมา กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และเวียดนามมากขึ้น

 

ก่อสร้างแบกค่าแรงเพิ่ม

ด้านนายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า การปรับค่าแรงขั้นตํ่าครั้งนี้ ผู้ที่ได้รับอานิสงส์คือ แรงงานต่างด้าว ขณะที่ได้สร้างแรงกดดันต่อนายจ้างที่ต้องปรับเพิ่มค่าแรง สำหรับคนไทยที่มีฝีมือตามไปด้วย ทำให้ในภาพรวมจะสร้างผลกระทบให้กับอุตสาหกรรมก่อสร้างทั้งระบบ สำหรับทาง
ออกรัฐบาลต้องควบคุมการขึ้นราคาของสินค้า เพราะการขยับค่าแรงในครั้งนี้เกิดจากราคาสินค้าเป็นหลัก

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่กระทบค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำไม่มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมประมง เพราะปัจจุบันแรงงานประมงค่าจ้างเกิน 1 หมื่นบาทต่อเดือนแล้ว ขนาดจูงใจจ้างเกิน 1 หมื่นบาทยังไม่มีใครอยากจะมาลงเรือเลย ทำให้แรงงานภาคประมงยังขาดแคลนอยู่ 3-5 หมื่นคน


SMEจุกขึ้นค่าจ้าง  1,000 โรงงานจ่อปิด

ภาคธุรกิจต้นทุนพุ่ง

ขณะที่นายจตุพร จันทรัตน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล มารีน โฟรเซ่น ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายอาหารทะเลแช่แข็งแบรนด์ “ชิมชิว” กล่าวว่า การปรับค่าจ้างขั้นตํ่า คาดจะทำให้บริษัทมีต้นทุน
เพิ่มขึ้น 3-4% เนื่องจากกระบวนการผลิตใช้แรงงานคนเป็นหลัก เมื่อบวกค่าบรรจุภัณฑ์ และค่าขนส่งที่กำลังจะปรับราคาขึ้นในปี 2563 จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นเป็น 5-10%

“ถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการปรับขึ้นค่าแรง ยอมรับว่าเห็นด้วยแต่ไม่ทั้งหมด เนื่องจากมองว่าค่าครองชีพของแรงงานควรจะได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ผลประโยชน์ที่ได้จะไปอยู่ที่แรงงานต่างด้าวมากกว่า ซึ่งหากการปรับอยู่ที่ระดับ 5-6 บาทก็น่าจะพอรับได้ แต่หากปรับขึ้นมากกว่านี้ตามนโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ก่อนเลือกตั้งคงจะลำบาก ที่สำคัญยังไม่เห็นมาตรการที่ออกมาช่วยผู้ประกอบการเลย”

นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า การปรับขึ้นค่าจ้างเฉลี่ย 5 บาทต่อวัน ภาพรวมไม่ได้ปรับขึ้นมากแต่ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน หากพิจารณาจากต้นทุนแรงงาน ต่อต้นทุนธุรกิจ พบว่าต้นทุนแรงงานอยู่ที่ประมาณ 11% การปรับขึ้นค่าจ้าง 5 บาทมีผลให้ต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 0.3% ในปีหน้า ทั้งนี้หลายภาคธุรกิจที่มีต้นทุนค่าแรงค่อนข้างสูงกว่าธุรกิจอื่นๆ อาทิ ร้านอาหาร ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจค้าส่งค้าปลีก ก่อสร้าง และสินค้าโภคภัณฑ์หรือภาคเกษตรหากธุรกิจมีต้นทุนสะสมอาจทำให้อยู่ในภาวะยากลำบากมากขึ้น

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,530 วันที่ 12 - 14 ธันวาคม พ.ศ. 2562