โรงไฟฟ้าชุมชนคึกคัก เอกชนเล็งแจกหุ้นฟรี20%

07 ธ.ค. 2562 | 10:30 น.

 

โรงไฟฟ้าชุมชนคึกคัก เอกชนดาหน้าลงพื้นที่จีบชุมชนตั้งโรงไฟฟ้า เผยบางรายยื่นข้อเสนอให้ถือหุ้นบุริมสิทธิไม่ตํ่ากว่า 20% หวังได้รับการคัดเลือก ด้านชุมชนเฮ ยันเกษตรกรมีรายได้เพิ่มแน่นอน

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักเกณฑ์และแนวทางการร่วมลงทุนการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ที่มีเป้าหมายจะให้ชุมชนแต่ละแห่งเข้ามามีส่วนร่วมหรือถือหุ้นในโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (vspp) แต่ละแห่งมีกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าหมายส่งเสริมรวมทั้งสิ้น 1,000 เมกะวัตต์ ขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2565

สำหรับแนวทางการลงทุนตั้งโรงไฟฟ้านั้น จะกำหนดให้วิสาหกิจชุมชนเข้าไปถือหุ้นบุริมสิทธิในโรงไฟฟ้าไม่ตํ่ากว่า 10% ร่วมกับเอกชนทั้งหมด หรือเอกชนร่วมกับภาครัฐ โดยจะไม่กำหนดเพดานสัดส่วนการถือหุ้นของชุมชนไว้ เพื่อเปิดช่องให้กับเอกชนเสนอผลประโยชน์สูงสุดให้กับชุมชนเข้ามาได้ รวมทั้งจะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนไม่น้อยกว่า 25 สตางค์ต่อหน่วย แต่หากเป็นในรูปแบบโรงไฟฟ้าไฮบริด จะต้องจ่ายส่วนแบ่งรายได้คืนสู่ชุมชนแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นเชื้อเพลิง
หลัก 25 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์ 50 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งโรงไฟฟ้าจะต้องทำพันธสัญญาหรือคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง ในการปลูกพืชพลังงานส่งป้อนให้โรงไฟฟ้าด้วย เป็นต้น ส่วนค่าไฟฟ้าที่ซื้อขายนั้น มีตั้งแต่ 3.76-5.34 บาทต่อหน่วย ขึ้นกับแต่ละประเภทเชื้อเพลิง

นายสนิท คำสิงห์นอก ผู้จัดการสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคเนื้อโคราชวากิว สุรนารี จำกัด และผู้ปลูกหญ้าเนเปียร์ เปิดเผยว่า นโยบายการส่งเสริมตั้งโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อเศรษฐกิจฐานรากของนายสนธิรัตน์ ที่เบื้องต้นส่งเสริมผลิตไฟฟ้าก๊าซชีวภาพจากหญ้าเนเปียร์ราว 300 เมกะวัตต์ ส่งผลให้เวลานี้มีเอกชนเข้าไปติดต่อในแต่ละชุมชนแล้วหลายราย สร้างความคึกคักให้กับท้องถิ่นหรือผู้ปลูกหญ้าเนเปียร์ ที่คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าไปถือหุ้นในโรงไฟฟ้าและจากการขายวัตถุดิบ

โรงไฟฟ้าชุมชนคึกคัก  เอกชนเล็งแจกหุ้นฟรี20%

 

ทั้งนี้ การที่กบง.กำหนดให้ชุมชนเข้าไปถือหุ้นบุริมสิทธิในโรงไฟฟ้าไม่ตํ่ากว่า 10% นั้น ทางชุมชนยอมรับได้ อีกทั้ง การตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาข้อเสนอของเอกชนในการคัดเลือกโครงการ แทนการเปิดประมูลนั้น จะส่งผลให้ชุมชนได้ผลประโยชน์สูงสุด เพราะขณะนี้เอง มีเอกชนบางราย เสนอเงื่อนไขที่จะให้หุ้นบุริมสิทธิในโรงไฟฟ้าไม่ตํ่ากว่า 20% แล้ว

อีกทั้ง การที่ให้โรงไฟฟ้าชุมชนต้องทำคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่ง จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชพลังงาน และเป็นหลักประกันสร้างรายได้ รวมทั้ง ค่าไฟฟ้าที่ภาครัฐรับซื้อเป็นราคาที่เอกชนรับได้ จะช่วยให้การรับซื้อพืชพลังงานในราคาที่สูงตามไปด้วย เพราะหากรับซื้อหญ้าเนเปียร์ในราคา 300 บาทต่อตัน จะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้ไม่ตํ่ากว่า 20 ล้านบาทต่อปี ในการปลูกหญ้าเนเปียร์ 600-700 ไร่ ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าขนาด 1 เมกะวัตต์ และสร้างเงินหมุนเวียนในชุมชนได้เกือบ100 ล้านบาทต่อปีซึ่งขณะนี้ในจังหวัดนคร ราชสีมา มีพื้นที่ชุมชนที่มีความพร้อมจะตั้งโรงไฟฟ้า คิดเป็นประมาณ 100 เมกะวัตต์ แล้ว

นายชัชพล ประสพโชค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) หรือ UAC กล่าวว่า ขณะนี้นโยบายการตั้งโรงไฟฟ้าชุมชนถือว่ามีความคึกคักมากในธุรกิจผลิตไฟฟ้า เห็นได้จากมีทั้งผู้เล่นรายเก่าและรายใหม่ เตรียมที่จะเสนอโครงการเข้าไปคัดเลือก ซึ่งหลักเกณฑ์ที่กบง.มีมติเห็นชอบออกมานั้นทางภาคเอกชนยอมรับได้ที่จะให้ชุมชนเข้าถือหุ้นบุริมสิทธิในโรงไฟฟ้าไม่ตํ่ากว่า 10% แต่หากมากกว่านี้จะทำให้โครงการไม่สามารถเดินหน้าได้ โดยเฉพาะการกู้เงินจากสถาบันการเงินที่อาจจะเป็นอุปสรรค

อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทจะยื่นข้อเสนอให้กับชุมชนสูงสุดอย่างแน่นอน เพราะมีประสบการณ์ในการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชนมาแล้ว จากการสร้างเสริมให้เกษตรกรปลูกหญ้าเนเปียร์ป้อนให้กับโรงไฟฟ้าที่จังหวัดเชียงใหม่

หน้า 2 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3529 วันที่ 8-11 ธันวาคม 2562