ชงตั้งกองทุนเยียวยาFTA

06 ธ.ค. 2562 | 08:14 น.

พาณิชย์ชงตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตเสรีทางการค้า(กองทุนเอฟทีเอ)  ช่วยเกษตรกรเข้าถึงเงินกองทุนง่ายขึ้น

 นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ (จร.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมอยู่อยุ่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเขตเสรีทางการค้า(กองทุนเอฟทีเอ)  โดยในวันที่ 20 ธ.ค.นี้ นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานในที่ประชุมคณะทำงานเพื่อจัดตั้งกองทุนดังกล่าว โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรกระทรวงอุตสาหกรรม สภาเกษตรรแห่งชาติ ร่วมเป็นคณะทำงาน ซึ่งถือเป็นการประชุมนัดแรก โดยมีวัตถุประสงค์ครอบคลุมการทำเอฟทีเอของไทยกับทุกประเทศ  ทั้งนี้ กองทุนดังกล่าวจะอยู่ภายใต้ระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558   โดยกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลังเป็นหน่วยงานที่ดูแล ซึ่งกรมจะต้องหารือร่วมกันจากนั้นก็จะเสนอต่อรัฐสภาให้มีการจัดตั้งต่อไป   จากการที่กรมได้ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นจากเกษตรกรในพื้นที่ ก็พบว่ามีข้อเรียกร้องจากเกษตรกรว่าต้องการให้ภาครัฐปรับปรุงแก้ไขวิธีการขอใช้เงินจาก โครงการช่วยเหลือ เพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตและบริการที่ได้รับผลกระทบจากการ เปิดเสรีทางการค้า (กองทุน FTA) ที่ทางกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) ดูแล มีความยุ่งยาก  เกษตรกรไม่สามารถเขียนคำร้อง กรอกข้อมูล เพื่อรับการเยียวยารวมทั้งการเตรียมเอกสารประกอบเอง ทำให้ต้องจ้างนักวิชาการเป็นผู้ดำเนินการให้  และงบประมาณจากกองทุนเอฟทีเอในรูปแบบเก่า ก็เป็นการขอรับการจัดสรรงบประมาณเป็นรายปี บางปีที่ได้ บางปีก็ถูกตัด  และได้รับการจัดสรรงบประมาณลดลงทุกปี ดังนั้น เพื่อให้กองทุนสามารถตอบสนองความต้องการของเกษตรกรและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายจริง ๆ กรมฯจึงต้องเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนฯอย่างเป็นทางการมีเงินหมุนเวียน ส่วนรายละเอียด รูปแบบกองทุนต้องรอภายหลังการประชุมของคณะทำงานที่จะมีการประชุมในวันที่ 20 ธ.ค. นี้

ชงตั้งกองทุนเยียวยาFTA

สำหรับ หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุมัติ การใช้เงินจากกองทุนเอฟทีเอในรูปแบบเดิมคือ 1. สินค้าหรือบริการประเภทเดียวกันหรือทดแทนกันมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากจากต่างประเทศอย่าง เห็นได้ชัดเจน หรือมีสัญญาณบ่งชี้ หรือคาดว่าจะได้รับผลกระทบซึ่งส่งผลกระทบต่อสินค้าไทย ที่ผลิต ภายในประเทศหลังจากการเปิดเสรีทางการค้า

 2. ผลกระทบต่อราคาของสินค้า หรือบริการประเภทเดียวกัน หรือ ทดแทนกัน หรือมีแนวโน้มว่าจะมีผลกระทบต่อราคาของสินค้าข้างต้น 3. ส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าประเภท เดียวกันหรือทดแทนกันที่ผลิตในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง 4. มีการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง หรือ อุตสาหกรรมต่อเนื่องลดลง  5. มีผลการศึกษาระบุว่า ภาคการผลิตหรือภาคบริการนั้น ๆ ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า