“สรวุฒิ” ตอกอนุทิน หยุดบิดเบือนบัญชานายกฯ

06 ธ.ค. 2562 | 08:00 น.

สรวุฒิ  โต้อนุทินเลิกบิดเบือนคำสั่งนายกรัฐมนตรีไม่ให้เกียรติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ขอให้ใช้ข้อมูลข้อเท็จจริงไม่ใช้จินตนาการ ทำให้สังคมสับสน

นายสรวุฒิ  เนื่องจำนงค์ สส.ชลบุรี เปิดเผยว่า จากกรณีที่ นายอนุทินฯ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุขออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่ใช่หน้าที่ของรัฐฯ ที่ต้องรับผิดชอบหรือเยียวยา ผู้ที่ครอบครองสารเคมีฯ ทั้ง 3 ชนิดนั้น  มองว่ารัฐมีหน้าที่ในการคุ้มครองผู้สุจริตภายใต้กฎหมายเดียวกัน หากประชาชนทำถูกต้องตามกฎหมาย แล้ววันดีคืนดีรัฐออกกฎหมายใหม่ไม่ให้เขาทำสิ่งนั้น แล้วเขาเสียหายโดยรัฐไม่ต้องรับผิดชอบใดๆเปรียบเสมือน ประชาชนมีมีดทำครัวในบ้านแล้วรัฐออกกฎหมายว่าการมีมีดทำครัวเป็นอาวุธ ผิดกฎหมาย ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง แถมยังจะสั่งให้ทำลายมีดทิ้ง โดยให้รับผิดชอบค่าทำลายเอง แล้วไม่ไปดูแลความเสียหาย อย่างนี้ถามว่าถูกต้องหรือไม่ เป็นไปตามหลักนิติธรรมหรือไม่ และเมื่อตรวจสอบกับฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย ไม่ได้ให้อำนาจรัฐสั่งการแล้วไม่ต้องรับผิดชอบชดเชยความเสียหายแก่ผู้กระทำการโดยสุจริต แต่อย่างใด

“สรวุฒิ” ตอกอนุทิน หยุดบิดเบือนบัญชานายกฯ

ทั้งนี้  จากข้อมูลที่ได้ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ยืนยันว่าคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีนายสุริยะ เป็นประธาน ได้ถือบัญชานายกรัฐมนตรี ว่าการจัดการวัตถุอันตรายต้องพิจารณาอย่างครบถ้วน ผ่านการหารือกับ 4 ส่วน ได้แก่ รัฐ ผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค เป็นแนวทางการพิจารณาอย่างเคร่งครัด ซึ่งมิใช่พิจารณาในด้านผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยละเลยการดูแลภาคส่วนอื่น ซึ่งแตกต่างจากที่นายอนุทินกล่าวอ้างคำบัญชาดังกล่าว จึงเป็นการบิดเบือนคำบัญชาของนายกรัฐมนตรี และไม่ได้ให้คำตอบสังคมว่า สารใหม่ฯที่จะมาใช้ทดแทนนั้น จะมีผลกระทบต่อสุขภาพฯ ของประชาชนอย่างไร 
                ซึ่งข้อมูลในที่ประชุมฯเสนอว่า สารเคมีเช่นไกลโฟเซตและพาราควอตฯนั้น มีการใช้อย่างแพร่หลายในโลกมากว่า 45 ปี ตั้งแต่ปี 2517 ทำให้ลดต้นทุนเกษตรกร เพิ่มผลผลิต และถ้าใช้ให้ถูกวิธีโดยการให้ความรู้ที่ถูกต้อง ถ้ามีการจำกัดการใช้ในบางพืช บางพื้นที่อย่างเคร่งครัดเท่านั้น จะเป็นแนวทางที่สามารถให้ทุกฝ่ายยอมรับได้ในระยะสั้น เพราะ 2 สารดังกล่าวใช้ในการเตรียมแปลงก่อนการปลูกเพื่อควบคุมวัชพืชฯ เมื่อพืชโตไประยะหนึ่งก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารดังกล่าวฯ แตกต่างจากคลอไพริฟอสที่เป็นสารกำจัดศัตรูพืช เช่น แมลง ที่มีโอกาสปนเปื้อนสูง และพืชที่จะใช้หลักๆในไทยคือ ทุเรียน ถ้ายกเลิกการใช้สารนี้ทันที ผมก็เห็นด้วย

นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 73 ที่วางหลักการให้รัฐต้องช่วยเหลือเกษตรกรให้ประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ดังนั้นการที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติล่าสุด จึงถือว่าเป็นการปกป้องรัฐและสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

สำหรับประเด็นที่มีการกล่าวอ้างเหตุการณ์ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ก็ขอให้พิจารณาเนื้อหาทั้งหมดไม่ใช่เฉพาะบางส่วน พบว่าผู้แทนหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข ในช่วงต้นได้แสดงความคิดเห็นยืนยันมติให้ห้ามใช้ 3 สาร จริง แต่เมื่อรับฟังข้อมูลจากที่มีการนำเสนอในการประชุม โดยเฉพาะจากผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการซักถามของกรรมการ ยิ่งเห็นว่าหากดำเนินการตามมติเดิมจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทั้ง 4 ส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยยังไม่มีมาตรการลดผลกระทบความเสียหายที่จะเกิดขึ้น จึงเป็นเหตุให้ที่ประชุมร่วมกันร่างมติที่ประชุม และเมื่อประธานได้สอบถามว่ามีผู้ใดคัดค้านหรือไม่ ก็ไม่ปรากฏว่ามีผู้แทนหน่วยงานจากกระทรวงสาธารณสุขแม้แต่เพียงคนเดียวที่แสดงการคัดค้านร่างมติดังกล่าวในขณะนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้ประธานในที่ประชุมสรุปว่าผู้แทนกระทรวงสาธารณสุขไม่เห็นด้วยกับมติได้อย่างไร

“สรวุฒิ” ตอกอนุทิน หยุดบิดเบือนบัญชานายกฯ

นายสรวุฒิ กล่าวต่อไปอีกว่า  การที่ออกมาให้ข่าวต่อสาธารณะทำนองว่า ไม่เห็นด้วยกับมติ จึงขัดแย้งกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในที่ประชุมอย่างชัดเจน เป็นการทำให้สังคมสับสน ทำให้คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนหน่วยงานราชการ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่ดำเนินการเรื่องนี้ด้วยความสุจริตเกิดความเสียหาย อย่างไม่เป็นธรรม และทำให้สังคมสับสน  โดยเฉพาะประเด็นสารไกลโฟเซต ก็พบว่าเคยมีคณะกรรมการขับเคลื่อนการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานที่ผ่านมา ก็เคยสนับสนุนให้มีการจำกัดการใช้ ดังนั้น ในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 เมื่อผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข รับฟังข้อมูลจากที่ประชุมแล้วไม่คัดค้านมติที่ประชุมให้มีการจำกัดการใช้สารไกลโฟเซต จึงไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หรือขัดหลักเหตุผลอย่างสิ้นเชิง เพราะกระทรวงสาธารณสุขเคยมีท่าทีสนับสนุนมาตรการจำกัดสำหรับสารไกลโฟเซต มาแล้วก่อนหน้านี้

คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ร่วมกันพิจารณาอย่างครบถ้วนรอบด้าน ให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่นำเสนอจากการถกเถียงอย่างมีส่วนร่วมจากทุกคนในที่ประชุม ไม่ได้ใช้จินตนาการในการตัดสินใจ