กรมพัฒน์ มั่นใจปีหน้าใช้ระบบไอทีเต็มรูปแบบ

04 ธ.ค. 2562 | 10:05 น.

กรมพัฒฯ ตั้งเป้านำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาให้บริการเต็มรูปแบบภายใน ปี 64 พร้อมเดินหน้าถอดบัญชี 3 โดยเฉพาะในโครงการลงทุนของ บีโอไอ หวังกระตุ้นการแข่งขัน

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ตั้งเป้าหมายในการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการ และนักลงทุนในการประกอบธุรกิจโดยในจะนำระบบอิเล็กทรอนิกส์ มาให้บริการแก่ผู้ประกอบการอย่างเต็มรูปแบบได้ภายในปี 2564   โดยเชื่อว่า จะเพื่ออำนวยความสะดวกและการบริการที่รวดเร็วมากขึ้น  นอกจากนี้  กรมฯยังเดินหน้าพิจารณาปรับธุรกิจออกจากบัญชีท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542  โดยเฉพาะในโครงการ 1,165  โครงการ ที่เข้ามาขอส่งเสริมการลงทุนกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)  เพื่อส่งเสริมการแข่งขันให้มากขึ้นด้วย

ปัจจุบันต่างชาติเข้ามาขออนุญาตประกอบธุรกิจผ่านกรมพัฒนาธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542  ในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 22,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106%  เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้จำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาตจะมีจำนวนทั้งสิ้น 193 ราย  ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลง 59 ราย คิดเป็น 23% แต่มูลค่ายังเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจที่เข้ามาเป็นโครงการที่มีเงินลงทุนสูง

กรมพัฒน์ มั่นใจปีหน้าใช้ระบบไอทีเต็มรูปแบบ

สำหรับธุรกิจในโครงการที่ใช้เงินลงทุนสูง เช่น  บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการออกแบบ ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้า บริการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบระบบและให้การสนับสนุนทางเทคนิคดาวเทียมสำรวจทรัพยากร เป็นต้น  ซึ่งล้วนเป็นโครงการขนาดใหญ่ แต่ทั้งนี้  เพื่อกระตุ้นการขออนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย  กรมฯได้มีการพิจารณาบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ ทุกปี  เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ โดยปรับธุรกิจออกจากบัญชีท้ายไปแล้ว 4 ครั้ง เป็นจำนวน 45 ธุรกิจ  เช่น  ธุรกิจธนาคาร  ประกันภัย  การตั้งสำนักงานผู้แทน  หรือธุรกิจที่มีหน่วยงานกำกับดุแลอยู่แล้ว เพื่อลดความซ้ำซ้อน  เป็นต้น

ทั้งนี้  ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจในธุรกิจดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุญาต อีกทั้งให้การประกอบธุรกิจสอดคล้องกับสภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในการสงเสริมแพ็กเกจ เร่งรัดการลงทุน และรองรับการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบสงครามการค้า ในด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business) อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย ผ่านการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจากข้อมูลของ BOI พบว่า  ปัจจุบันในช่วง 9 เดือนของปี 2562  ทั้งสิ้น  1,165  โครงการ  มูลค่าลงทุนรวม  314,130  ล้านบาท  เพิ่มขึ้น  11%  เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561  ซึ่งนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว ไม่ต้องขออนุญาตการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติฯ นี้อีก