ฝ่ายเลขาฯ ย้ำมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชอบด้วยกฎหมาย

03 ธ.ค. 2562 | 10:25 น.

จากประเด็นที่มีผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมาย ให้ความเห็นว่าการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่ผ่านมาไม่มีการนับองค์ประชุมตอนลงมติ และไม่มีการให้กรรมการแต่ละคนออกเสียงในเรื่องที่ขอมติ ดังนั้น มติคณะกรรมการวัตถุอันตรายจึงไม่ใช่มติที่ชอบด้วยกฎหมาย

ฝ่ายเลขาฯ ย้ำมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชอบด้วยกฎหมาย                

นายประกอบ  วิวิธจินดา  อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการวัตถุอันตราย  ชี้แจงว่า มติคณะกรรมการฯ เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน  62 ดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ มีการลงมติในหลายรูปแบบ เช่น ขอมติที่ประชุม หากไม่มีผู้คัดค้าน ถือว่ามีมติเป็นเอกฉันท์ ถ้ามีผู้คัดค้าน จะบันทึกความเห็นไว้ และถือเป็นมติเสียงข้างมาก หรือมีการลงคะแนนโดยการยกมือ หรือใช้บัตรลงคะแนนก็ได้
สำหรับการตรวจสอบองค์ประชุมตอนลงมติ เนื่องจากองค์ประชุมคณะกรรมการฯ มีจำนวนไม่เกิน 29 คน  มีการวางป้ายชื่อ ตำแหน่ง ของบุคคลที่เป็นองค์ประชุมของคณะกรรมการฯ ประธานและฝ่ายเลขานุการสามารถตรวจสอบได้ตลอดเวลาที่มีการประชุม และก่อนเริ่มประชุมมีการตรวจสอบองค์ประชุมแล้ว อีกทั้งกรรมการทุกท่านย่อมสามารถตรวจสอบองค์ประชุมได้ตลอดเวลา

ทั้งนี้  จึงขอยืนยันว่าการลงมติในวันดังกล่าวได้มีการตรวจสอบองค์ประชุมตั้งแต่ต้น มีกรรมการเข้าประชุมทั้งสิ้น 26 คน และองค์ประชุมดังกล่าวมีอยู่ตลอดการประชุมรวมทั้งขณะที่มีการลงมติ และไม่มีกรรมการผู้ใดคัดค้านหรือโต้แย้งว่ามีการพิจารณาโดยไม่ครบองค์ประชุมแต่อย่างใด 

สำหรับการประชุมในวันดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่กรมวิชาการเกษตรเสนอพร้อมทั้งข้อมูลประกอบ ได้แก่ ผลการรับฟังความคิดเห็น และมาตรการรองรับภายหลังการประกาศให้ทั้ง 3 สาร เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ซึ่งที่ประชุมไม่อาจพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อร่างประกาศกระทรวงดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการรองรับผลกระทบอย่างชัดเจน ในขณะที่คณะกรรมการฯ กลับได้รับข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบจากการปรับระดับการควบคุมวัตถุอันตรายดังกล่าวเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4

ที่ประชุมจึงได้ปรึกษาหารือเพื่อบริหารจัดการวัตถุอันตราย โดยมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง เมื่อไม่มีผู้แสดงความเห็นเพิ่มเติม ประธานจึงได้ให้ฝ่ายเลขานุการยกร่างมติแสดงบนจอภาพ  และมีการปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดของมติตามความเห็นที่ประชุม หลังจากนั้นประธานได้ขอความเห็นชอบจากที่ประชุมเพื่อเป็นมติ จากนั้นที่ประชุมเสียงข้างมากได้เห็นชอบกับมติ อย่างไรก็ดี มีกรรมการเพียง ๔ ราย แจ้งว่าไม่เห็นชอบกับมติในบางส่วน รวมทั้งมีผู้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติม 1 รายเท่านั้น

นายประกอบ กล่าวต่อไปอีกว่า จากข้อมูลข้างต้น สามารถชี้แจงต่อความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายที่ให้ความเห็นข้างต้น ดังนี้  1.ประเด็นที่โต้แย้งว่าไม่มีการตรวจสอบองค์ประชุม หรือนับองค์ประชุมตอนลงมติ ขอชี้แจงว่า องค์ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีการตรวจสอบตั้งแต่เริ่มประชุม และในระหว่างประชุมมีวิธีการจัดการที่จะทำให้ประธานและฝ่ายเลขานุการในที่ประชุมตรวจสอบได้ตลอดเวลาว่าองค์ประชุมครบถ้วนแล้วขณะที่ลงมติ

ฝ่ายเลขาฯ ย้ำมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย ชอบด้วยกฎหมาย

,2.ประเด็นที่โต้แย้งว่าไม่มีการให้กรรมการแต่ละคนออกเสียงในเรื่องที่ขอมติ ขอชี้แจงว่า การลงมติในที่ประชุมนั้นสามารถกระทำได้หลายวิธี และพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย มาตรา 12 วรรคสอง ก็มิได้กำหนดว่าการลงมติต้องกระทำโดยยกมือออกเสียง หรือออกเสียงโดยบัตรลงคะแนนเท่านั้น ประกอบกับจากการตรวจสอบวิธีปฏิบัติในการลงมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย มีทั้งการขอมติที่ประชุม โดยลักษณะขอความเห็นชอบตามมติที่เสนอเพื่อเป็นเสียงข้างมากได้ และบางครั้งก็มีการให้ออกเสียงลงคะแนนโดยการยกมือ หรือลงคะแนนในบัตรลงคะแนน เพื่อนับเป็นเสียงข้างมากก็ได้ ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องให้กรรมการแต่ละคนออกเสียงจึงจะถือเป็นมติเสมอไป การที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายในการประชุมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 62 ได้มีการลงมติโดยให้ความเห็นชอบกับร่างมติที่ฝ่ายเลขานุการนำเสนอ โดยกรรมการแต่ละคนไม่ได้ยกมือออกเสียงหรือลงคะแนนในบัตรลงคะแนน แต่ให้ผู้ไม่เห็นด้วยคัดค้านและบันทึกไว้ การพิจารณาและลงมติโดยเสียงข้างมากของที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย จึงเป็นการดำเนินการที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

การดำเนินการหลังจากคณะกรรมการฯ ได้มีมติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 62 ตามขั้นตอนของการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมตามมาตรา 18 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2562 คณะกรรมการฯ จะต้องมีมติเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมที่มีการนำเสนอก่อน จากนั้นจึงจะเสนอความเห็นดังกล่าวต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งมติในวันดังกล่าวยังไม่มีการเห็นชอบต่อร่างประกาศกระทรวงฯ ดังนั้น ขั้นตอนต่อไปจึงต้องนำร่างประกาศกระทรวงฯ เข้าสู่การพิจารณากลั่นกรองของคณะอนุกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายลำดับรองที่ได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการฯ เพื่อตรวจพิจารณาร่างประกาศฯ เสียก่อน ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการฯ อีกครั้ง”