กฟภ.เทงบ 4.6พันล้าน รุกสมาร์ทกริด ตอบสนองผู้ใช้ไฟ

09 ธ.ค. 2562 | 23:00 น.

 

กฟภ.อัดงบกว่า 4.6 พันล้าน รับเทคโนโลยีเปลี่ยน เร่งพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ตอบสนองผู้ใช้ไฟฟ้าในอนาคต ประเดิมติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะพื้นที่พัทยา 1.16 แสนเครื่อง และผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ทั่วประเทศอีก 7 หมื่นเครื่องช่วยบริหารการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้

การจัดทำแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศไทยที่กำหนดไว้ในระยะยาว 20 ปี (ปี 2558 - 2579) ซึ่งได้บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าฉบับใหม่หรือพีดีพี 2018 ของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการจะยกระดับความสามารถของระบบไฟฟ้า ยกระดับคุณภาพบริการที่มีต่อผู้ใช้ไฟฟ้า ทำให้การใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนมีความสะดวกสบายมากขึ้น จากเทคโนโลยีการใช้พลังงานในอนาคต และการยกระดับโครงสร้างระบบไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบไฟฟ้าสอดคล้องกับแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ตามแผนพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดของประเทศ

ทั้งนี้ ในการดำเนินงานดังกล่าว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ถือเป็นกลไกหนึ่งที่จะให้ระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ที่เริ่มจากการพัฒนาด้านผู้ใช้ไฟฟ้า และการพัฒนาระบบขึ้นมารองรับ

กฟภ.เทงบ 4.6พันล้าน  รุกสมาร์ทกริด  ตอบสนองผู้ใช้ไฟ

นายทรงวุฒิ ขันดี ผู้อำนวยการ ฝ่ายวางแผนระบบไฟฟ้า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เปิดเผยว่า การดำเนินการด้านโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ทกริด ของกฟภ.นั้น ระยะแรกเป็นการดำเนินงานเพื่อตอบสนองด้านโหลดและระบบบริหารจัดการพลังงานโดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่จะมีการติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ ติดตั้งระบบบริหารจัดการพลังงาน ติดตั้งระบบ Demand Respond (DR) จำนวน 2 ระบบ เพื่อขยายผลและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าอัจฉริยะในช่วงระหว่างปี 2563-2565 ใช้งบประมาณ 332 ล้านบาท

โครงการนำร่องระบบการบริหารจัดการการตอบสนองด้านความต้องการไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงานแบบอัตโนมัติ เพื่อศึกษา ออกแบบ และทดสอบการจัดเก็บข้อมูล การสื่อสารและการเชื่อมโยงทางสถาปัตยกรรมสารสนเทศของระบบ Demand Response ตามมาตรฐานที่เหมาะสม และเพื่อทดสอบกับกลุ่มโหลด Direct Load Control, Smart Home, Smart Building และผู้ใช้ไฟฟ้าที่ติดตั้งมิเตอร์ AMR ในช่วงเดือนตุลาคม 2562 -มีนาคม 2564 งบประมาณ 20 ล้านบาท


 

 

อีกทั้งโครงการพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี เพื่อศึกษาเทคโนโลยีและทดสอบการออกแบบ และการใช้งานระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในด้านต่างๆ สำหรับรองรับการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะในพื้นที่อื่นๆ รวมทั้ง เพิ่มประสิทธิภาพและความมั่นคงให้กับระบบจำหน่าย และเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมต่อกับแหล่งผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก ลดปัญหาและค่าใช้จ่ายด้านการปฏิบัติการต่าง โดยได้พัฒนาและติดตั้งอุปกรณ์สำหรับโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ ติดตั้งระบบ Back up ของงานศูนย์สำรองข้อมูล ช่วงปี 2560-2563 งบประมาณดำเนินโครงการ 1,069 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างติดตั้ง Smart Meter โดย 9,000 เครื่องแรก จะติดตั้งแล้วเสร็จ ภายในปี 2562 และติดตั้งครบจำนวน 116,308 เครื่องภายในปี 2563 เพื่อให้ผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถบริหารการใช้ไฟฟ้าของตัวเองได้ และมีเป้าหมายติดตั้งให้ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อย 8 แสนเครื่องในพื้นที่เมืองใหญ่ 4 ภาค ภายในปี 2565 และอีก 2.2 ล้านเครื่องภายในปี 2570

รวมถึงโครงการติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ เพื่อขยายผล และติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จำนวน 70,000 เครื่อง และติดตั้งอุปกรณ์สื่อสาร และอุปกรณ์ประกอบ ช่วงปี 2562-2566 งบประมาณ 1,810 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำเอกสารประกวดราคา

 

นายทรงวุฒิ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังดำเนินงานพัฒนาระบบไมโครกริดและระบบกักเก็บพลังงาน โดยมีโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(ระบบไมโครกริด) ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ช่วงปี 2562-2564 วงเงินลงทุน 390 ล้านบาท โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Micro Grid) ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วงปี 2561-2562 วงเงิน 265 ล้านบาท การติดตั้งระบบกักเก็บพลังงาน ส่วนต่อยอดโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(ระบบไมโครกริด) ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วงปี 2563-2566 วงเงิน 432 ล้านบาท และการปรับปรุงระบบไมโครกริดให้สอดคล้องกับสมาร์ทกริด กฟผ.ที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ช่วงปี 2564-2566 วงเงิน 278 ล้านบาท

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,528 วันที่ 5-7 ธันวาคม 2562

กฟภ.เทงบ 4.6พันล้าน  รุกสมาร์ทกริด  ตอบสนองผู้ใช้ไฟ