ลุยปรับ 202 ผู้ประกอบการ ปล่อยน้ำเสีย "แสนแสบ"

27 พ.ย. 2562 | 05:57 น.

“วราวุธ” สั่งการ คพ. ตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับสถานประกอบการที่ปล่อยน้ำเสียลงคลองแสนแสบ ฟันโทษปรับวันละ 2 พัน สถานประกอบการ 202 แห่ง จ่ออีก 102

 

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เผยว่า ได้สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษ และคุณภาพน้ำในคลองต่างๆ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร พบว่าผู้ประกอบการหลายแห่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายยังปล่อยน้ำเสียลงคลอง เช่นคลองแสนแสบ คพ. จึงได้เร่งรัดและสั่งปรับสถานประกอบการริมคลองแสนแสบ 202 แห่ง โดยมีโทษปรับสูงสุดในอัตรา 2,000 บาท/วัน และอยู่ระหว่างเสนอเพื่อออกคำสั่งปรับ อีก 102 แห่ง

 

 

 

ด้านนายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยว่า ตามที่เจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ คพ. ลงพื้นที่ตรวจสอบการระบายน้ำทิ้งจากสถานประกอบการในพื้นที่คลองแสนแสบ อย่างต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปี 2559 ถึง ปี 2562 พบว่ามีสถานประกอบการถึง 593 แห่ง ในนพื้นที่ริมคลองแสนแสบและคลองสาขา ระบายน้ำทิ้งเกินค่ามาตรฐานที่กฎหมายกำหนด ส่วนใหญ่เป็นอาคารชุด โรงแรม และอาคารสำนักงาน จึงได้ออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้ได้มาตรฐานภายในระยะเวลาที่กำหนด

ลุยปรับ 202 ผู้ประกอบการ ปล่อยน้ำเสีย "แสนแสบ"

                                                   ประลอง ดำรงค์ไทย

 

ทั้งนี้ผลการตรวจติดตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมมลพิษ พบว่ามีสถานประกอบการ 289 แห่ง ได้ปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสีย จนน้ำทิ้งมีค่าเป็นไปตามมาตรฐานแล้ว จึงยุติคำสั่ง และมีจำนวน 304 แห่ง ที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งและยังคงระบายน้ำทิ้งเกินค่ามาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่ง คพ. ได้ใช้มาตรการบังคับทางปกครอง โดยออกคำสั่งปรับเป็นรายวันแล้วจำนวน 202 แห่ง และอีก 102 แห่ง อยู่ระหว่างเสนอเพื่อออกคำสั่งปรับเป็นรายวัน โดยมีโทษปรับสูงสุดในอัตรา 2,000 บาทต่อวัน จนกว่าจะสามารถปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียให้สามารถบำบัดน้ำทิ้งเป็นไปตามค่ามาตรฐานได้

ลุยปรับ 202 ผู้ประกอบการ ปล่อยน้ำเสีย "แสนแสบ"

 

ลุยปรับ 202 ผู้ประกอบการ ปล่อยน้ำเสีย "แสนแสบ"

ในปีนี้ คพ. ยังคงเดินหน้าบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยจะออกคำสั่งให้ปรับปรุงแก้ไขระบบบำบัดน้ำเสียกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ระบายน้ำทิ้งเกินมาตรฐาน และใช้มาตรการบังคับทางปกครอง ปรับเป็นรายวันกับแหล่งกำเนิดมลพิษที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง และจะขยายผลการดำเนินงานไปยังคลองที่มีคุณภาพน้ำเสื่อมโทรมอื่นๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง และชั้นใน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้กับภาคผู้ประกอบการและภาคประชาชน เกิดความตระหนัก หันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม และบำบัดน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือนของตนเอง ก่อนระบายออกสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งในที่สุดจะสามารถยกระดับคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ประชาชนสามารถเข้าไปตรวจสอบรายชื่อสถานประกอบที่ระบายน้ำทิ้งเป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดได้ที่ “ระบบการเปิดเผยข้อมูลการตรวจสอบแหล่งกำเนิดมลพิษสู่สาธารณะ” (Public Disclosure)