“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

22 พ.ย. 2562 | 12:06 น.

"สนธิรัตน์"ชู"ผาปังโมเดล" ต้นแบบพลังงานชุมชน ตอบโจทย์นโยบาย Energy for all ลงพื้นที่ดูวิสาหกิจชุมชน ผลิตไฟฟ้า Synthesis Gas จากถ่านไผ่  ช่วยเหลือตัวเอง ประหยัดค่าพลังงาน เล็กงขยายสู่พื้นที่อื่นๆ  พร้อมประสานแผนทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขยายผล

 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้( 22 พ.ย.62) ได้ลงพื้นที่ชุมชนตำบลผาปัง อำเภอแม่พริก จังหวัดลำปาง เพื่อเยี่ยมชมต้นแบบธุรกิจพลังงานชุมชน ที่มีการผลิตไฟฟ้าในระบบ Micro Off-grid  Hybrid Syngas -Solar -battery ถือเป็นชุมชนต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการพลังงานชุมชนด้วยตนเอง โดยใช้ไผ่ซางหม่นเป็นวัสดุหลัก อาทิ นำเศษไผ่มาผลิตเป็นถ่านเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันสูบน้ำเพื่อการเกษตร มีผลประหยัดเชื้อเพลิงได้กว่า 80% หรือนำถ่านไผ่ไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าชุมชนด้วยระบบ Gasification ซึ่งเป็นเทคนิคที่ทำให้เกิดการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์จนได้ก๊าซหรือ Synthesis Gas ที่มีคุณสมบัติติดไฟได้ สามารถใช้แทนก๊าซหุงต้มในครัวเรือน (แอลพีจี) ลดรายจ่ายด้านพลังงาน และสร้างรายได้จากการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ


“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

                                         นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

อีกทั้ง ชุมชนผาปังยังสามารถยกระดับจากพลังงานในชุมชนสู่การจัดตั้งบริษัท กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise : SE) ที่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนที่ต้องการส่งเสริมให้ชุมชนสามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานในพื้นที่ มีรายได้จากการวัสดุที่เหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของสังคมและสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน

 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชุมชนผาปังประสบความสำเร็จคือ ความเข้มแข็งของคนในชุมชนโดยอาศัยการระเบิดจากข้างใน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหา ใช้ภูมิปัญญาขับเคลื่อนจุดที่ดีให้กลายเป็นจุดแข็ง ร่วมกับทรัพยากรมนุษย์ รวบรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่มีประสบการณ์ด้านการเกษตร วิศวกรรม การบริหาร และการตลาด พัฒนารูปแบบวิสาหกิจสู่รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคมที่มีสมาชิกในชุมชนเป็นเจ้าของร่วมกัน โดยเน้นการพัฒนา “ไผ่” ซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นของชุมชนผาปัง ทนแล้ง และเป็นพืชเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายมาพัฒนาเพิ่มคุณค่า

“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

ตั้งแต่ด้านการท่องเที่ยว เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมอุโมงค์ไผ่ขนาดใหญ่แห่งแรกในประเทศไทย พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายทั้งตะเกียบ ก้านธูป น้ำยาฆ่าเชื้อราจาก น้ำควันไม้จากการเผาถ่าน ด้านพลังงาน ชุมชนสามารถผลิตถ่านไผ่ผาปังที่มีประสิทธิภาพสูง ใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนน้ำมันก๊าซหุงต้ม ตลอดจนนำไปผลิตกระแสไฟฟ้า ทำให้ปัจจุบันชุมชนผาปังสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและธรรมชาติอย่างสมดุล

“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

 

จากการดำเนินงานดังกล่าว จึงทำให้มีความมั่นใจว่า นโยบาย Energy for all ของกระทรวงพลังงาน ที่มุ่งหวังให้เรื่องของพลังงานเป็นเรื่องของทุกคน และเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก นั้นสามารถเป็นจริงได้ โดยจะขยายผลของ"ผาปังโมเดล" ไปดำเนินงานในพ้นที่อื่นๆ ซึ่งจะได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน  กฟผ. ปตท. และสำนักบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(ส.กทอ.) นำโมเดลดังกล่าว ไปประสานรวมเข้าไปในแผนงาน เพื่อขยายผลดำเนินการในพื้นที่ชุมชนอื่นที่มีศักยภาพและความพร้อม ให้ได้ข้อยุติภายในเดือนธันวาคม 2562 นี้

“สนธิรัตน์” ใช้โมเดลผาปัง ดันพลังงานชุมชน

 

“นอกจากการประสานแผนร่วมกันในหน่วยงานในกระทรวงพลังงานแล้ว  จะหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการร่วมมือกัน เพื่อให้ปี2563 เป็นปีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากโดยใช้เรื่องพลังงานเป็นกลไกในการเปลี่ยนผ่าน ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม”