ดันส่งออกอาหาร ดึงรักษาพยาบาล ลดขาดดุล ‘ยูเออี’

26 พ.ย. 2562 | 02:10 น.

 

สัมภาษณ์

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือยูเออี เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย และเป็นแหล่งนำเข้านํ้ามันดิบอันดับ 1 ของไทยในตะวันออกกลาง และยังเป็นประตูการค้าสำคัญของไทยสู่ภูมิภาคตะวันออกกลาง แม้ที่ผ่านมาไทยจะเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ายูเออีมาโดยตลอด จากสินค้าที่ไทยนำเข้าจากยูเออีสัดส่วน 80-90% เป็นนํ้ามันดิบ นํ้ามันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติที่มีราคาสูง แต่โอกาสการค้า การลงทุน และความร่วมมือกันในด้านต่างๆ ก็ยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก

 

จี้นำเข้าสินค้าไทยเพิ่ม

นายวราวุธ ภู่อภิญญา เอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เผยในการให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ไทยและยูเออีมีความสัมพันธ์ที่ดีทั้งระดับราชวงศ์ ระดับรัฐบาล ระดับภาคธุรกิจ และระดับประชาชน ที่ผ่านมายูเออีเป็นแหล่งนำเข้านํ้ามันดิบ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอันดับ 1 ของไทยในตะวันออกกลาง ซึ่งความสัมพันธ์ยิ่งใกล้ชิดมากขึ้น เมื่อบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท. สผ.ได้ดีลการสำรวจและลงทุนแหล่งปิโตรเลียมในรัฐอาบูดาบี เมืองหลวงของยูเออี 2 แปลง (โครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2) ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนสำรวจ

“สินค้าที่ไทยส่งออกมายูเออี ใน 3 อันดับแรก คือรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เพราะอากาศร้อนเขาเกือบทุกเดือน ที่ผมไปเจอรัฐมนตรีหลายกระทรวงของยูเออีก็พยายามนำเสนอให้เขานำเข้าสินค้าไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่จะไปถึงประชาชนส่วนใหญ่ของไทยที่อยู่ในภาคเกษตร ก็พยายามเสนอเขาว่าเรามีสินค้าเกษตรและอาหารที่หลากหลายมาก และไทยสามารถเป็นฟู้ดซิเคียวริตี (ความมั่นคงด้านอาหาร) แล้วให้เขาเป็นเอ็นเนอร์ยีซิเคียวริตี (ความมั่นคงด้านพลังงาน) ให้เรา เพราะเขาผลิตอาหารเองไม่ได้ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย หากต้องการสินค้าอะไรบอกมาได้เลย เรามีหมด”

 

ดันส่งออกอาหาร  ดึงรักษาพยาบาล  ลดขาดดุล ‘ยูเออี’

                                                             วราวุธ ภู่อภิญญา

 

เร่งไฟเขียวนำเข้าไก่

ล่าสุดในส่วนของสินค้าไก่ ที่ไทยติดปัญหายังไม่ผ่านการรับรองฮาลาล จากระบบการเชือดของไทยมีการช็อตไก่ด้วยไฟฟ้า ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม ที่ต้องใช้ชาวมุสลิมในการเชือดไก่ ซึ่งทางกระทรวงเกษตรฯ ของไทยได้เข้าไปคุยกับทางการของ
ยูเออีแล้ว และอยู่ในขั้นตอนลงรายละเอียด คาดเร็ว ๆ นี้ไทยจะสามารถส่งออกสินค้าไก่ไปยังยูเออีได้

ในส่วนของภาคบริการเป็นอีกหนึ่งภาคที่มีอนาคต จากในแต่ละปีจะมีชาวยูเออีเดินทางมาใช้บริการตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาล และท่องเที่ยวที่เมืองไทยเป็นจำนวนมาก (ยูเออีมีประชากร 9 ล้านคน เป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมราว 1 ล้านคน และอีกกว่า 8 ล้านคนเป็นชาวต่างชาติ) ซึ่งในจำนวนชาวยูเออี 1 ล้านคนนี้ ในปี 2561 ได้เดินทางมาเมืองไทย 1.28 แสนคน หรือกว่า 10% ของจำนวนประชากร

 

“ชาวยูเออีชื่นชมในระบบการรักษาพยาบาลของไทยว่ามีบริการที่ดีมาก ทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยภายใน 3 ชั่วโมง ที่ผ่านมาเขาก็เชิญโรงพยาบาลไทย เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพไปลงทุนเปิดสาขา แต่ก็มีแค่การตั้งสำนักงานตัวแทนเพื่อดึงคนไปรักษาพยาบาลที่เมืองไทย ขณะที่ยูเอีได้โปรโมตตัวเองในการเป็น Medical Tourism หรือฮับด้านการรักษาพยาบาลของภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยได้เชิญโรงพยาบาลชื่อดังจากสหรัฐฯและอังกฤษ มาลงทุนตั้งสาขาเพื่อรองรับชาวต่างชาติที่ไปทำธุรกิจในยูเออี”

 

ดันส่งออกอาหาร  ดึงรักษาพยาบาล  ลดขาดดุล ‘ยูเออี’

 

ขอเว้นวีซ่าให้ไทย

อย่างไรก็ดี ในส่วนของชาวยูเออีเองก็ยังให้ความนิยมมารักษาพยาบาลที่ไทยเป็นอันดับต้นๆ เพราะสะดวก บินแค่ 6 ชั่วโมงก็ถึง โรงพยาบาลมีบริการที่ดี และไทยมีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย และเพื่อแลกเปลี่ยนด้านการท่องเที่ยวและยกระดับความสัมพันธ์ระดับประชาชนของทั้ง 2 ฝ่ายให้มากขึ้น (ปี 2561 ไทยเที่ยวยูเออีกว่า 4 หมื่นคนยูเออีมาไทย 1.28 แสนคน) ทางสถานทูตไทยอยู่ระหว่างการผลักดันให้ยูเออียกเว้นวีซ่าให้กับคนไทย จากปัจจุบันไทยได้ยกเว้นวีซ่าให้กับยูเออีหากมาอยู่ไม่เกิน 1 เดือน

 

 

“เรื่องการยกเว้นวีซ่าให้กับไทย ผมได้คุยกับปลัดกระทรวงมหาดไทย คุยกับรัฐมนตรีต่างประเทศและคุยกับรัฐมนตรีหลายคนของยูเออีเท่าที่มีโอกาส ซึ่งเขารับปากจะเร่งผู้ที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,525 วันที่ 24-27 พฤศจิกายน 2562

ดันส่งออกอาหาร  ดึงรักษาพยาบาล  ลดขาดดุล ‘ยูเออี’