กังวลถูกตัด GSP ดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุด 22 เดือน

20 พ.ย. 2562 | 10:07 น.

ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ เดือนตุลาคมลดต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8  และต่ำสุดรอบ 22 เดือน กังวลสหรัฐตัดจีเอสพี สศค.ปรับลดขยายตัวเศรษฐกิจ ส่งออกทั้งปีติดลบ 2.5%

ดร.​ธนวรรธน์​ พล​วิชัย​ ผู้​อำนวยการ​ศูนย์​พยากรณ์​เศรษฐกิจ​และ​ธุรกิจ​ มหา​วิทยาลัย​หอการค้า​ไทย​ เปิดเผย​ถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนตุลาคม 2562 โดยสำรวจประธานหอการค้าไทย รองประธานกรรมการ ประธานและกรรมการหอการค้าจังหวัด จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 25-31 ตุลาคม 2562 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ อยู่ที่ระดับ 46.0 ลดลงจากเดือนกันยายนอยู่ที่ระดับ 46.2 ซึ่งปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 และลดลงต่ำสุดในรอบ 22 เดือน นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2561 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในปัจจุบัน​ อยู่ที่ระดับ 44.2 ลดลงจากเดือนกันยายน อยู่ที่ระดับ 44.3 และดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในอนาคต อยู่ที่ระดับ 47.7 ลดลงจากเดือนกันยายน​ อยู่ที่ระดับ 48.1

กังวลถูกตัด GSP ดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุด 22 เดือน

ทั้งนี้ ปัจจัยด้านลบ อาทิ สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ประเทศไทยสำหรับสินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐ มูลค่าประมาณ 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับประมาณเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดว่าจะขยายตัว 2.8% โดยการส่งออกคาดจะติดลบ 2.5% เป็นต้น ค่า SET Index  เดือนตุลาคม 2562 ปรับตัวลดลง 35.73 จุด จาก 1,637.22  ณ สิ้นเดือนกันยายน 2562 เป็น 1,601.49 ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2562

กังวลถูกตัด GSP ดัชนีเชื่อมั่นต่ำสุด 22 เดือน

 ส่วนปัจจัยบวก อาทิ คณะรัฐมนตรี​ (ครม.)​ เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 ของภาครัฐอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะ “ชิม ช้อป ใช้” มาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)​ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเริ่มเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเนื่องจากได้รับการตอบสนองจากประชาชน เป็นต้น

 

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ประจำเดือนตุลาคม ยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว และมีสัญญาณการชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ลดลง รวมถึงดัชนีหอการค้าทั่วประเทศยังมีการชะลอตัวในทุกภาคส่วนเช่นกัน ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าในเดือนพฤศจิกายน มาตรการ​ประกันรายได้เกษตรกร มาตรการชิม ช้อป ใช้ ระยะที่ 3 จะช่วยทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคมปรับตัวดีขึ้นได้หรือไม่ ขณะที่คาดว่าเศรษฐกิจไทย​จะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2563

 

“สัญญาณตัวเลขข้างต้นสอดคลองกับสภาพัฒน์ที่ระบุเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3  โตเพียงแค่ 2.4% เทียบกับไตรมาสที่ 2 ที่โต 2.3 % แสดงว่าเศรษฐกิจยังรอการฟื้นตัวที่โดดเด่น สภาพัฒน์คาดว่าเศรษฐกิจไทยทั้งปีนี้จะโต 2.6% นั่นหมายความว่า ไตรมาสที่ 4 เศรษฐกิจไทยจะโตแค่ 2.8-3% จากที่เราคาดไว้เดิมเศรษฐกิจไทยน่าจะโตได้ประมาณ 3-3.5%   ในไตรมาสที่ 4  แสดงว่าสภาพัฒน์เปลี่ยนมุมมอง สาเหตุสำคัญคงมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังไม่มีทีท่ากระเตื้องขึ้นทั้งในเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อภายในประเทศ สะท้อนได้จากดัชนีที่เราสำรวจ ซึ่งเดือนตุลาคมยังไม่มีสัญญาณของการฟื้น จึงชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8”