NPLพุ่ง 3% สูงสุดรอบ 8 ปี

21 พ.ย. 2562 | 04:05 น.

เศรษฐกิจชะลอ ส่งผลหนี้เสียแบงก์เพิ่มขึ้น ธปท.ชี้ธุรกิจขนาดกลาง ส่งสัญญาณชำระหนี้สะดุด ขาดสภาพคล่อง หวั่นไหลเป็นหนี้เสีย แนะธนาคารพาณิชย์ดูแลเชิงรุก ด้านทีเอ็มบี จับตาปี 63 เอ็นพีแอลขาขึ้นทะลุเกิน 3% ในรอบ 8 ปีครั้งแรก ขณะที่หนี้ SM เร่งตัวขึ้น กระทบตั้งสำรอง  

เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของสินเชื่อระบบสถาบันการเงินชะลอลงทั้งสินเชื่อ ธุรกิจและสินเชื่อครัวเรือน ขณะที่คุณภาพของสินเชื่อโดยรวมปรับตัวลดลง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล)ต่อสินเชื่อ สิ้นไตรมาส 3 เพิ่มเป็น 3.0% จาก 2.9% ในไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากสินเชื่อของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ซึ่งนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า แนวโน้มเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ในระบบน่าจะทรงตัว

ขณะที่นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า ธปท.เริ่มเห็นสัญญาณธุรกิจขนาดกลางที่มียอดวงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 100-500 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 10% ของพอร์ตสินเชื่อธุรกิจ เริ่มมีสัญญาณเป็นสินเชื่อจับตาเป็นพิเศษ(SM) หากธนาคารพาณิชย์ไม่เข้าไปดูแลเชิงรุก กลุ่มนี้อาจจะไหลเป็นหนี้เอ็นพีแอลตามคุณภาพสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี โดยภาพรวมที่หนี้เอ็นพีแอลขยับเพิ่มขึ้นจาก 4.52% เป็น 4.75%

NPLพุ่ง 3% สูงสุดรอบ 8 ปี

ทั้งนี้ผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางชัดเจนขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯและการขาดสภาพคล่องที่เริ่มสะดุด โดยกลุ่มที่มีปัญหาจะอยู่ในกลุ่มอาหาร อิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ ปิโตรเคมีและชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่กลุ่มสินเชื่อรายย่อย จะมีทั้งกลุ่มที่เปราะบางและไม่เปราะบาง ธนาคารพาณิชย์จึงต้องระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ จะเห็นว่าเอ็นพีแอลอยู่ในระดับที่สูงขึ้นในไตรมาส 3 ทั้งในส่วนของเอ็นพีแอลสินเชื่อที่อยู่อาศัยอยู่ที่ 3.49% สินเชื่อรถยนต์ 1.86% และสินเชื่อบัตรเครดิต 2.65%

เอ็นพีแอลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นได้ตามภาวะเศรษฐกิจ แต่หากธนาคารดูแลลูกค้าและทำงานเชิงรุกมากขึ้น จะไม่เห็นเอ็นพีแอลไหลขึ้นแรง เช่นเดียวกับลูกค้ารายกลางที่เราเริ่มเห็นสัญญาณการไหลเป็น SM ที่มีศักยภาพ แต่เริ่มสะดุดจากประเด็นสงครามการค้า ซึ่งธปท.อยากให้แบงก์เข้าไปดูแลทั้งเสริมเงินทุนหมุนเวียน ยืดอายุหนี้ให้ลูกค้า

NPLพุ่ง 3% สูงสุดรอบ 8 ปี

ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

 

ด้านนายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสินกล่าวว่า สัญญาณเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากบางอุตสาหกรรมไม่ใช่ทั้งระบบ เช่น กลุ่มที่มีปัญหาจากการไม่สามารถปรับตัวจากเทคโนโลยีทำให้มีปัญหาผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพ หรือราคาแข่งขันไม่ได้ ซึ่งกลุ่มนี้จะต้องปรับตัว ขณะที่เอ็นพีแอลของออมสินทรงตัวที่ 2.9% ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาโดยเดือนธันวาคมนี้จะเริ่ม แก้ไขและปรับลดให้คงเหลือที่ 2.8%

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน)กล่าวกับฐานเศรษฐกิจว่า  ปี 2563 จะเป็นช่วงวัฏจักรขาขึ้นของเอ็นพีแอลทั้งระบบ โดยจะเห็นตัวเลขทะลุเกิน 3% เป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีนับตั้งแต่ปี 2554 โดยสิ่งที่ต้องจับตาจะเป็นตัวเลขสินเชื่อ SM ที่เห็นว่าอัตราการเติบโตเร่งตัวขึ้น  โดยปี 2559 ขึ้นไปแตะระดับ 25% และไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 17% และกลับมาอยู่ที่ 8.1% ในไตรมาส 3 ซึ่งตัวเลข SM วันนี้ จะสะท้อนการเพิ่มขึ้นของตัวเลขเอ็นพีแอลในอนาคตได้ จากพอร์ตเอ็นพีแอล ไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.01% และตัวเลข SM อยู่ที่ 2.53%

สำหรับกลุ่มที่มีแนวโน้มต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ จะเป็นกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี)อยู่ในกลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง ภาคการผลิตการเกษตรเป็นหลักส่วนกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ อาจต้องระวังกลุ่มผู้ประกอบการอสังหา ริมทรัพย์ (ดีเวลอปเปอร์) ที่จะมีปัญหาเรื่องของกระแสเงินสด (Cash Flows) ขณะที่รายย่อยยังไม่ค่อยมีปัญหาเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น

 

ขณะเดียวกันวันที่ 1 มกราคม 2563 มาตรฐานบัญชี TFRS9 มีผลบังคับใช้ แม้ตลาดจะรับรู้ไปแล้วว่า การตั้งสำรองหนี้เผื่อสงสัยจะสูญของธนาคารจะเพิ่มขึ้น สะท้อนจากตัวเลขการตั้งสำรองของธนาคารพาณิชย์ในช่วงไตรมาส 1-3 ปี 2562 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ดังนั้นสิ่งที่ต้องจับตามองจะเป็นตัวเลขสินเชื่อ SM ก้อนใหม่ที่จะเข้าสู่ระบบตามสินเชื่อที่ด้อยคุณภาพลงและรวม SM ของเดิม เนื่องจากการตั้งสำรองสำหรับ stage 2 ตามมาตรฐานบัญชี TFRS9 จะมาจากแบบจำลอง expected loss ของแต่ละธนาคาร ซึ่งจะต้องเพิ่มภาระจากการตั้งล่วงหน้า 12 เดือน เป็นเต็มอายุสัญญา (lifetime expected loss) เพราะกลุ่ม Stage 2 คือ กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,524 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562

                    NPLพุ่ง 3% สูงสุดรอบ 8 ปี