ดึงนํ้าทิ้ง 7.6 พันรง. ช่วยเกษตรกร รับมือวิกฤติภัยแล้ง

22 พ.ย. 2562 | 11:00 น.

"สุริยะ” สั่งกรอ. เร่งสำรวจปริมาณนํ้าทิ้งโรงงาน 12 ประเภท กว่า 7.6 พันแห่ง เตรียมพร้อมรับมือภัยแล้ง ช่วยเหลือเกษตรกรฝ่าวิกฤติ ชี้นํ้าทิ้งต้องเป็นนํ้าที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานกำหนด คุมเข้มข้นไม่ให้โรงงานฉวยโอกาสแอบนำนํ้าเสียไปทิ้ง

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) สำรวจปริมาณนํ้าทิ้งของโรงงาน 12 ประเภท จำนวนทั้งสิ้น 7,621 โรงงาน ที่สามารถนำนํ้าทิ้งไปใช้ประโยชน์ในภาคเกษตรกรรม เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง โดยคุณลักษณะของนํ้าทิ้งต้องเป็นนํ้าที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม และมีคุณภาพสามารถใช้ในการเกษตรได้ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกร สามารถผ่านวิกฤติภัยแล้งไปได้ในกรณีที่เกิดภัยแล้งขั้นรุนแรง

สำหรับโรงงาน 12 ประเภท ประกอบด้วย โรงงานจำพวก 3 ประกอบกิจการเกี่ยวกับสัตว์ ที่ไม่ใช่สัตว์นํ้า, กิจการเกี่ยวกับนม, กิจการเกี่ยวกับสัตว์นํ้า, กิจการเกี่ยวกับนํ้ามันจากพืชหรือสัตว์หรือไขมันจากสัตว์, กิจการเกี่ยวกับผัก พืชหรือผลไม้, กิจการเกี่ยวกับเมล็ดพืชหรือหัวพืช, กิจการเกี่ยวกับอาหารจากแป้ง, กิจการเกี่ยวกับนํ้าตาล, กิจการเกี่ยวกับชา กาแฟ โกโก้ ช็อกโกแลต หรือขนมหวาน, กิจการเกี่ยวกับเครื่องปรุงหรือเครื่องประกอบอาหาร, กิจการเกี่ยวกับอาหารสัตว์ และกิจการปรับคุณภาพของเสียรวม เฉพาะการบำบัดนํ้าเสีย ของโรงงานทั้งหมดดังกล่าว

ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายเริ่มแสดงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ภัยแล้งอาจจะถึงขั้นรุนแรง ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรมไม่ได้นิ่งนอนใจ จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด โดยให้ความสำคัญการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และการวางแผนรับมือภัยแล้งในภาคอุตสาหกรรมไปพร้อมๆ กัน

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้การช่วยเหลือดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรมได้เคยใช้มาตรการนี้มาเมื่อปี 2559 ได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการพิจารณาอนุญาตโรงงานอุตสาหกรรมนำนํ้าทิ้งของโรงงานไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตรกรรมในช่วงภัยแล้ง เป็นการเฉพาะกิจที่อนุญาตให้โรงงานจำพวกที่ 3 ที่ประกอบกิจการเกี่ยวเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มีเงื่อนไขห้ามระบายนํ้าออกนอกโรงงาน ให้สามารถนำนํ้าทิ้งจากโรงงานที่เป็นไปตามมาตรฐานส่งต่อให้เกษตรกรเพื่อสู้ภัยแล้งได้

 

ดึงนํ้าทิ้ง 7.6 พันรง.  ช่วยเกษตรกร  รับมือวิกฤติภัยแล้ง

 

ทั้งนี้ ปี 2559 โรงงานอุตสาหกรรม สามารถนำนํ้าทิ้งจำนวน 772,560 ลูกบาศก์เมตร (รายละไม่เกิน 10 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ต่อวัน) ช่วยเหลือเกษตรกรที่แจ้งความประสงค์ขอใช้นํ้าทิ้ง จำนวน 4,419 ไร่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่อ้อย ข้าวโพด ปาล์ม มันสำปะหลัง ถั่วเขียว เป็นต้น และที่สำคัญโรงงานอุตสาหกรรมยังมีศักยภาพในการนำนํ้าทิ้งช่วยเหลือเกษตรกรได้เพิ่มอีก หากเกษตรกรแจ้งความจำนงในการขอใช้นํ้าทิ้ง

 

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ทุกฝ่ายได้สบายใจเกี่ยวกับการนำนํ้าทิ้งออกนอกโรงงาน ในส่วนของโรงงานจำพวกที่ 3 นั้น โรงงานที่จะนำนํ้าทิ้งไปสู่ภาคการเกษตรต้องเป็นนํ้าที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยโรงงานต้องมีสัญญาหรือหนังสือยินยอมระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกับเกษตรกรผู้นำนํ้าทิ้งไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม จะต้องมีแผนที่และหนังสือแสดงสิทธิการใช้ที่ดินของเกษตรกรผู้รับนํ้าทิ้งไปใช้ในพื้นที่ มีเอกสารที่แสดงว่าพื้นที่เกษตรกรรมที่จะนำนํ้าทิ้งไปใช้มีคันดินหรือการป้องกันโดยรอบเพื่อป้องกันไม่ให้นํ้ารั่วไหลออกนอกพื้นที่ และต้องมีหนังสือรับรองจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่จะนำนํ้าทิ้งโรงงานไปใช้ประโยชน์ที่ได้รับความเห็นชอบจากเกษตรกร เป็นต้น พร้อมกันนี้ยังให้อุตสาหกรรมจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาและตรวจสอบด้วยว่านํ้าทิ้งที่จะไปสู่ภาคเกษตรนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเหมาะสมหรือไม่

 

 

ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมโรงงานอุตสาหกรรม ทำหนังสือขอความร่วมมือไปยังโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศให้ช่วยกันประหยัดการใช้นํ้าในภาคอุตสาหกรรม และลดปริมาณนํ้าทิ้งจากโรงงานเพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนนํ้าในช่วงฤดูแล้ง พร้อมทั้งยังกำชับให้ผู้ประกอบการนำนโยบาย 3 อาร์ (3R) ในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้นํ้าในระดับสูงสุด ได้แก่ รีดิวซ์ (Reduce) การลดใช้หรือใช้นํ้าน้อยเท่าที่จำเป็น รียูส (Reuse) การใช้นํ้าซ้ำ และการรีไซเคิล (Recycle) หรือการนำกลับมาใช้ใหม่ นอกจากจะช่วยประหยัดนํ้าแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้กับภาคอุตสาหกรรมในการช่วยกันใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายของรัฐบาลด้วย

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,524 วันที่ 21-23 พฤศจิกายน 2562

ดึงนํ้าทิ้ง 7.6 พันรง.  ช่วยเกษตรกร  รับมือวิกฤติภัยแล้ง