ฮือ! สศช. ออกโรงโต้ "WEF" "ไทยเสี่ยง" ไม่จริง!

16 พ.ย. 2562 | 07:35 น.

สภาพัฒน์ ชี้รายงานความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจของ WEFเป็นผลการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารภาคธุรกิจ ด้านความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจใน 10 ปีข้างหน้า เพื่อหารือในเวที ดาวอส ซึ่งภาครัฐได้มีมาตรการดำเนินการรองรับมาอย่างต่อเนื่อง

 

นายดนุชา  พิชยนันท์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะโฆษกสำนักงานฯ ชี้แจงว่า สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF มีการจัดทำรายงาน Regional risks for doing business report โดยร่วมกับธุรกิจด้านประกันภัยและบริหารความเสี่ยง Marsh & McLennan Companies and Zurich Insurance Group เป็นครั้งแรกในปี 2018 ซึ่งรายงานในปี 2019 นี้ เป็นการจัดทำครั้งที่ 2 เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการหารือของผู้บริหารจากทั่วโลกที่จะเข้าร่วมการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลกที่เมือง ดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในเดือน ม.ค. 2563 

 

รายงานนี้ใช้วิธีการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริหารภาคธุรกิจ ในช่วงเดือน ม.ค. – เม.ย. 2562 โดยใช้คำถามว่า “From the following list, check the five global risks that you believe to be of most concern for doing business in your country within the next 10 years” 

 

สำหรับแบบสอบถามภาษาไทยที่ดำเนินการในประเทศไทยโดยคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (WEF Partner Institute) ใช้ข้อความว่า “จากรายการด้านล่างนี้ โปรดเลือกความเสี่ยงระดับโลกมา 5 รายการ ที่คุณเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึงมากที่สุดในการทำธุรกิจในประเทศของคุณใน 10 ปีข้างหน้า” โดยให้เลือกจากรายการความเสี่ยง 30 ประการ

 

ทั่วโลกมีผู้ตอบแบบสอบถาม 12,000 กว่าคน ขณะที่ ในประเทศไทยมีผู้ตอบแบบสอบถามรวม 102 คน ซึ่งอาจไม่สะท้อนความจริงในภาพรวมของสถานการณ์ปัจจุบัน โดยความเสี่ยงที่นักธุรกิจไทยแสดงความกังวลมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) Asset bubble 2) Failure of national governance 3) Cyberattacks 4) Manmade environmental catastrophes และ 5) Profound social instability 

 

นายดนุชา ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ในห้วงเวลาของการสำรวจแบบสอบถามเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลต่อการตอบแบบสอบถามโดยเฉพาะในเรื่องของความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ โดยความเสี่ยงในประเด็น Asset bubble นั้น ในห้วงเวลาดังกล่าว อัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงและราคาของอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น อาจทำให้ภาคธุรกิจมีความกังวล ซึ่งในเรื่องนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงที่เข้มงวดรองรับอยู่แล้ว 

 

ในประเด็น Failure of national governance เป็นตัวชี้วัดที่มีนิยามกว้าง และในบริบทของรายงานนี้ หมายถึงระบบธรรมาภิบาล การทุจริตคอร์รัปชั่น การบริหารจัดการเชิงสถาบันมากกว่าการเจาะจงไปที่การบริหารงานของรัฐบาลในภาพรวม ในขณะที่ประเทศมาเลเซียเองมีข้อกังวลในด้านนี้เช่นกัน โดยอยู่ที่อันดับที่ 4 

 

ฮือ! สศช. ออกโรงโต้ "WEF"  "ไทยเสี่ยง" ไม่จริง!

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อยแล้วและมีการเร่งขับเคลื่อนนโยบายอย่างเต็มที่ ซึ่งไม่มีอะไรน่ากังวล และรัฐบาลมีความพยายามในการปฏิรูปและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของภาครัฐมาอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติและคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลากว่าจะเห็นผล โดยมีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น สำหรับประเด็น Cyberattacks ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ให้กับภาครัฐและเอกชนมากขึ้น

 

ในส่วนประเด็น Manmade environmental catastrophes เนื่องจากประชาชนรับทราบและมีความตระหนักและรับรู้ในเรื่องของปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีความรุนแรงในช่วงต้นปีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการรองรับแล้ว เช่น เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจคุณภาพรถขนส่ง ส่วนปัญหาขยะพลาสติก สังคมได้มีการตื่นตัวในการลดการใช้พลาสติกมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ ประเด็น Profound social instability การรับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ อาจทำให้ประชาชนมีการตีความไปในหลายด้าน มีความหลากหลายทางความคิด เกิดการถกเถียงในสังคมเป็นวงกว้าง ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสื่อสารสร้างความเข้าใจให้กับภาคประชาชน รวมทั้งการลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับรายได้เกษตรกรด้วยการประกันราคาสินค้าเกษตรสำคัญ เช่น ข้าว ยางพารา ปาล์ม เป็นต้น และมีมาตรการบัตรสวัสดิการประชารัฐเพื่อช่วยเหลือในด้านค่าครองชีพ 

 

โดยสรุปความเสี่ยงทั้ง 30 รายการเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศและนักธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญอยู่แล้ว แต่มีมิติความรุนแรงแตกต่างกันไปตามบริบทของการพัฒนาของแต่ละประเทศ รายงานดังกล่าวนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่จะใช้เปิดประเด็นการหารือของผู้เข้าร่วมการประชุมที่เมือง ดาวอส ซึ่งมาจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อทำความเข้าใจและหาทางออกร่วมกันในการลดความเสี่ยงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ในส่วนของประเทศไทย มีผู้แทนเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง และภาครัฐเองได้ตระหนักถึงความสำคัญ พร้อมทั้งมีการรับมือในเรื่องดังกล่าวด้วยเช่นกัน 

 

ทั้งนี้ สภาพัฒน์เป็นหน่วยงานหลักในการติดตามความเคลื่อนไหวของการจัดอันดับโดยองค์กรระหว่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความระมัดระวังในการนำข้อมูลมาเผยแพร่ โดยคำนึงถึงความน่าเชื่อถือ หลักการที่มีมาตรฐาน แนวทางในการปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ