จากรถไฟฟ้าใต้ดินMRT สีนํ้าเงินถึงไฮสปีด

18 พ.ย. 2562 | 23:35 น.

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องในโครงการก่อสร้างคมนาคมขนาดใหญ่ ฐานะคู่สัญญารัฐ ไม่ว่าจะเป็นทางพิเศษ หรือทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A B C ส่วน D และทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สายสีนํ้าเงิน และส่วนต่อขยาย ที่อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม  ช่วงที่เหลือ “เตาปูน-ท่าพระ” เปิดให้บริการเดินรถครบเป็นวงกลม ภายในเดือนมีนาคม 2563 พร้อมขบวนรถใหม่จาก “ซีเมนส์” อีก 35 ขบวน เป็น 54 ขบวน ให้บริการทั้งระบบ ที่คาดการว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการขยายระยะทางให้ไกลออกไปเพื่อรับคนย่านฝั่งธน เช่น จรัญสนิทวงศ์ เพชรเกษม ให้เข้า-ออกเมืองได้สะดวก  อีกทั้ง สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ ที่ให้บริการเดินรถของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)

ขณะเดียวกันยังมีแผนขยายการลงทุนระบบรางที่รัฐเตรียมเปิดสัมปทาน ในเส้นทางต่างๆ อย่าง สายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนเทียน เป็นต้น โดย BEM มี บมจ. ช.การช่างเป็นบริษัทแม่ บริษัทรับเหมาก่อสร้างรายใหญ่อันดับต้นของประเทศที่มีโปรเจ็กต์และมูลค่างานของรัฐในมือสูงที่สุดนับแสนล้านบาท

ล่าสุด ได้ต่อยอดธุรกิจลงทุนในโครงการอภิมหาโปรเจ็กต์ รถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) มูลค่า 2.24 แสนล้านบาท ในฐานะหนึ่งในผู้ถือหุ้นกับบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ที่มี บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด หรือซีพี เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

 

จากรถไฟฟ้าใต้ดินMRT สีนํ้าเงินถึงไฮสปีด

จากรถไฟฟ้าสู่ไฮสปีด

ทั้งนี้ นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง BEM ให้สัมภาษณ์ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า กรณีรถไฟฟ้า บริษัทเป็นรายแรกที่พัฒนาระบบใต้ดิน และหากเริ่ม ลงทุนรถไฟความเร็วสูง งานนี้ก็ถือเป็นงานแรก ได้ประสบการณ์ใหม่ๆ ที่บริษัทมีความภาคภูมิใจได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำคัญระดับประเทศ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจเดินรถไฟฟ้าไม่ได้จำกัดว่า ไฮสปีด หรือ รถไฟฟ้า แต่อะไรที่ขับเคลื่อนด้วยราง และโลจิสติกส์ BEM ก็ทำ

“มองว่าบริษัทเดินได้เร็วจนกระทั่งขึ้นไปถึงไฮสปีด ซึ่งเราสนใจหมด เพราะอยู่ในธุรกิจนี้ที่เรามั่นใจ”

เมื่อถามว่าจะมีโอกาสเดินรถ และเสนอแนะให้ใช้รถหัวจรวดของซีเมนส์หรือไม่ นายวิทูรย์ มองว่า ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเสนอ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับกลุ่มซีพีในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ขณะ BEM ถือหุ้น 10% และช.การช่างถือหุ้น 5% โดยร่วมกันใส่เงินลงทุนจดทะเบียนในบริษัทใหม่ บริษัทรถไฟความเร็วสูงฯ วงเงิน 4,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ประชุมร่วมกัน เนื่องจากเพิ่งลงนามในสัญญา (วันที่ 24 ตุลาคม 2562)

เงินลงทุน

สำหรับเงินลงทุนไฮสปีด 2.24 แสนล้านบาท รัฐสนับสนุน 1.1 แสนล้านบาท ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนสูง หากลงทุนคนเดียวน่าจะติดเพดาน ดังนั้นซีพีจึงต้องการพันธมิตรที่มีประสบการณ์ การรวมกลุ่มไฮสปีดครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก ทั้งงานเดินรถ งานซีวิล อุปกรณ์เป็นเรื่องใหม่ต้องใช้ประสบการณ์หลายๆ ส่วนเข้ามาร่วมกัน

สำหรับการดำเนินการ จะเริ่มทันทีที่มีการส่งมอบแอร์พอร์ตลิงค์ภายใน 2 ปี ที่ต้องจ่าย 10,000 ล้านบาท โดยต้องตรวจสอบและประเมินทรัพย์สิน ซึ่งมีทั้งซ่อม และหาขบวนรถ

 

ทำไปจ่ายไป

ตามข้อเท็จจริงหากสร้างเสร็จกี่เปอร์เซ็นต์รัฐควรต้องจ่าย ซึ่งควรจะเป็นเช่นนั้นแต่ โครงการนี้สร้างเสร็จจึงค่อยจ่าย สำหรับการก่อสร้าง 5 ปี ต้องเร่งมือพอสมควร เนื่องจากมีระยะทางที่ยาวถึง 220 กิโลเมตร ส่วนที่ยากคือในเมือง เส้นที่ต้องวิ่งคู่กับแอร์พอร์ตลิงค์ ซึ่งยากตรงที่ก่อสร้างขณะที่รถไฟยังเดินรถอยู่

 

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3523 ระหว่างวันที่ 17 - 20 พฤศจิกายน 2562