ลงทุนอีอีซีเฉียดแสนล้าน ตั้ง-ขยายโรงงาน10เดือน ปิโตรเลียมมาแรง

17 พ.ย. 2562 | 00:25 น.

กรอ.เผย 10 เดือน ยื่นขอประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงานนอกนิคมฯในอีอีซี พุ่ง 469 โครงการ เงินลงทุนเฉียด 1 แสนล้านบาท มาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ ขณะที่ปิดกิจการมี 156 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดเล็ก

 

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในช่วงที่ผ่านมาถือว่ามีความคืบหน้าเป็นลำดับ ไม่ว่าจะเป็นการลงนามร่วมทุนของภาครัฐและเอกชนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน และโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงการก่อสร้าง ขณะที่การลงทุนของกลุ่มอุตสาหกรรมก็มีความคืบหน้าไม่แพ้กัน

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ พบว่า ในช่วงปี 2560-2561 ได้มีการ อนุมัติให้ส่งเสริมการลงทุนในอีอีซีไปแล้ว 674 โครงการ เงินลงทุน 6.53 แสนล้านบาท และในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 นี้ อนุมัติให้การส่งเสริม 283 โครงการ เงินลงทุน 1.52 แสนล้านบาท

ขณะที่ข้อมูลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ชี้ให้เห็นว่า ในช่วงปี 2560-2561 มีการยื่นขอตั้งประกอบการโรงงานใหม่ 804 โครงการ เงินลงทุน 1.35 แสนล้านบาท และในช่วงเดือนมกราคม-วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 มีการยื่นขอประกอบการโรงงานใหม่ 356 โครงการ เงินลงทุน 5.30 หมื่นล้านบาท และมีการยื่นขอขยายกิจการโรงงาน 217 โครงการ เงินลงทุน 4.66 หมื่นล้านบาท ขณะที่ช่วงเดือนมกราคม-วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 มีการยื่นขอขยายกิจการโรงงาน 113 โครงการ เงินลงทุน 4.38 หมื่นล้านบาท

 

ลงทุนอีอีซีเฉียดแสนล้าน  ตั้ง-ขยายโรงงาน10เดือน ปิโตรเลียมมาแรง


 

 

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า จากที่กรอ.เก็บข้อมูลการลงทุนในพื้นที่อีอีซีในช่วงที่ผ่านมา ถือว่ามีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ที่มาจากความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนที่อยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม-วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 พบว่ามียื่นขอประกอบกิจการโรงงานใหม่ 356 โครงการ เงินลงทุน 5.30 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับทั้งปี 2561 มีจำนวน 405 โครงการ เงินลงทุน 3.80 หมื่นล้านบาท ขณะที่ยื่นขอขยายกิจการโรงงาน 113 โครงการ เงินลงทุน 4.38 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับทั้งปี 2561 มี 115 โครงการ เงินลงทุน 2.20 หมื่นล้านบาท รวมยื่นขอประกอบกิจการและขยายโรงงาน 469 โครงการ เงินลงทุน 9.69 หมื่นล้านบาท

สำหรับพื้นที่การลงทุนทั้ง ประกอบกิจการใหม่และขยายกิจการโรงงาน ส่วนใหญ่จะอยู่ในจังหวัดชลบุรี มีจำนวน 244 โครงการ เงินลงทุน 5.04 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นจังหวัดระยอง มีจำนวน 125 โครงการ เงินลงทุน 3.04 หมื่นล้านบาท และจังหวัดฉะเชิงเทรา 100 โครงการ เงินลงทุน 1.59 หมื่นล้านบาท

 

ขณะที่กลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับความนิยมเข้ามาลงทุน ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก มี 92 โครงการ เงินลงทุน 5.52 พันล้านบาท กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 64 โครง การ เงินลงทุน 3.95 พันล้านบาทแต่เม็ดเงินลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม 3.72 หมื่นล้านบาท ในจำนวน 7 โครงการ และตามมาด้วยกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เงินลงทุน 1.45 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม มีโรงงานที่เลิกกิจการและจำหน่ายทะเบียนออกไปตั้ง แต่เดือนมกราคม-วันที่ 12 พฤศจิกายน 2562 มีจำนวน 156 โรงงาน เงินลงทุน 2.79 หมื่นล้านบาท มีคนงาน 5,107 คน เมื่อเทียบทั้งปี 2561 มีจำนวน 301 โรงงาน เงินลงทุน 8.46 พันล้านบาท มีคนงาน 3,649 คน ส่วนโรงงานที่ปิดกิจการไปในช่วงปีนี้ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 21 โรงงาน เงินลงทุน 437 ล้านบาท คนงาน 575 คน แต่มีโรงงานขนาดใหญ่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะขั้นมูลฐานที่ปิดกิจการไปมีจำนวน 3 โรงงาน เงินลงทุน 1.39 หมื่นล้านบาท มีคนงาน 599 คน

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,523 วันที่ 17-20 พฤศจิกายน 2562