ต่างชาติกังวล 5ปัจจัยเสี่ยงทำธุรกิจในไทย

14 พ.ย. 2562 | 10:21 น.

สภาเศรษฐกิจโลกเผยไทยมีความเสี่ยงในการทำธุรกิจในประเทศไทย 5 อันดับ ต่างชาติกังวลเศรษฐกิจฟองสบู่ -ความล้มเหลวของรัฐบาล

น.ส. พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวถึงการศึกษารายงานเรื่อง ความเสี่ยงระดับภูมิภาคในการประกอบธุรกิจ (Regional Risk of Doing Business2019 ) ที่จัดทำโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ว่า อันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจทั่วโลกปี 2562 นี้ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1. วิกฤติทางการเงิน 2.การโจมตีทางไซเบอร์ 3. ภาวะการว่างงาน 4. วิกฤติราคาพลังงาน 5. ความล้มเหลวของรัฐบาล 6. ความวุ่นวายทางสังคม 7. การโจรกรรมข้อมูล 8.ความขัดแย้งระหว่างรัฐ 9. การขาดโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ 10.เศรษฐกิจฟองสบู่

ต่างชาติกังวล 5ปัจจัยเสี่ยงทำธุรกิจในไทย

สำหรับความเสี่ยงในการทำธุรกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกนั้น แบ่งได้เป็น 4 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยี ด้านภูมิรัฐศาสตร์ และด้านเศรษฐกิจ โดยสรุป 10 อันดับความเสี่ยงในการทำธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้แก่ 1. ภัยธรรมชาติ 2. การโจมตีทางไซเบอร์ 3.ความขัดแย้งระหว่างรัฐ 4. วิกฤตการณ์ทางการเงิน 5. เหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่รุนแรง 6.เศรษฐกิจฟองสบู่ 7.การโจรกรรมข้อมูล 8. วิกฤติราคาพลังงาน 9. ภาวการณ์ว่างงาน 10. ความล้มเหลวของรัฐบาล

จากการศึกษายังพบว่า ความเสี่ยงในการทำธุรกิจในประเทศไทย 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. เศรษฐกิจฟองสบู่ 2. ความล้มเหลวของรัฐบาล 3. การโจมตีทางไซเบอร์ 4. ภัยพิบัติทางธรรมชาติและโดยมนุษย์ และ 5. ความไม่มั่นคงทางสังคม ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรมีการศึกษาเชิงลึกเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการด้านการค้าและการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการต่างประเทศ รวมทั้งหาทางแนวทางและมาตรการป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงต่าง ๆอย่างเป็นรูปธรรมด้วย

“สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าจะดำเนินการการติดตามรายงานผลสำรวจ การจัดอันดับและการศึกษาต่าง ๆ ขององค์กรที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลก อาทิ ธนาคารโลก และสภาเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเด็นทางเศรษฐกิจที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการไทย ซึ่งนับเป็นหน้าที่สำคัญของสำนักงานฯ ที่จะสนับสนุนข้อมูลและให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ให้ตระหนักถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่มีความเชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องกัน เพื่อส่งเสริมการค้าเชิงรุก (proactive strategy) ให้สามารถขยายตลาดไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการประกอบธุรกิจให้เพิ่มมากขึ้น” น.ส. พิมพ์ชนก กล่าว