ปตท.สผ.กางแผน 5 ปี เพิ่มผลิต-รายได้ 2 เท่า

13 พ.ย. 2562 | 09:54 น.

 

ปตท.สผ.กางแผน 5 ปี รุกเพิ่มกำลังผลิตปิโตรเลียมอีกเท่าตัวที่ระดับ 6-7 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือโตเฉลี่ย 5-7% ต่อปี “พงศธร”ชี้อนาคตลดซื้อกิจการ หันสำรวจและผลิตเองในแหล่งสัมปทานใหม่ ช่วยเพิ่มผลตอบแทนที่ดีกว่า เน้น 5 ประเทศหลัก งบลงทุน 1,700-2,000 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 5.2-6.2 หมื่นล้านบาท

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าหมายใน 5 ปี(2563-2567) จะมีกำลังการผลิตปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นเท่าตัวอยู่ที่ระดับ 6-7 แสนบาร์เรลต่อวัน จากปีก่อนที่มีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3.5 แสนบาร์เรลต่อวัน หรือจะโตเฉลี่ยปีละ 5-7% ผลจากบริษัทได้ชนะประมูลแหล่งเอราวัณและบงกชที่สิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2565-2566  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านสิทธิในการดำเนินโครงการและจะทำให้รับรู้กำลังผลิตเต็มที่

ปตท.สผ.กางแผน 5 ปี เพิ่มผลิต-รายได้ 2 เท่า

 

นอกจากนี้ยังเป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการบริษัท เมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่นในมาเลเซีย ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นในปีนี้ 5 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 7 หมื่นบาร์เรลต่อวัน และการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท พาเท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. (บริษัทชั้นนำที่ดำเนินธุรกิจปิโตรเลียมในตะวันออกกลางมายาวนานกว่า 80 ปี)ทำให้รับรู้กำลังการผลิตเพิ่มอีก 2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ต้นทุนการผลิตจะอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล

 

ส่วนในปีนี้(2562) บริษัทจะมีกำลังการผลิตปิโตรเลียมอยู่ที่ 4.2 แสนบาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากต้นปี 2562 ที่มีกำลังการผลิต 3.7 แสนบาร์เรลต่อวัน(ปี​ 2562​ ปตท.สผ.ตั้งเป้าปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย​ 3.45 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน) ซึ่งเป็นผลจากการเข้าซื้อกิจการแหล่งปิโตรเลียมต่าง ๆ ในช่วงปีนี้

ปตท.สผ.กางแผน 5 ปี เพิ่มผลิต-รายได้ 2 เท่า

 

“นับจากนี้ไป บริษัทมีนโยบายที่จะลดการเข้าซื้อกิจการแหล่งปิโตรเลียมที่มีการผลิตอยู่แล้ว แต่จะหันมาเน้นลงทุนสำรวจในแหล่งนำปิโตรเลียมใหม่แทน เพราะจะได้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดีกว่า และยังเป็นการเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมด้วย ขณะเดียวกันจะหันมาเน้นเพิ่มปริมาณการผลิตจากโครงการหลักที่อยู่ในขั้นสำรวจปิโตรเลียมทั้งในเมียนมา และมาเลเซียให้สามารถผลิตเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น ”

 

 

ส่วนการขยายการลงทุนในตะวันออกกลางจะมุ่งเน้น 2 ประเทศหลักคือ โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(ยูเออี) ที่ได้มีการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมในประเทศ ซึ่งหลังจากที่ที่ปตท.สผ.ได้เข้าไปซื้อกิจการบริษัทพาร์เท็กซ์ โฮลดิ้งฯ (ซึ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2562) ทำให้เป็นผู้ถือหุ้นและเข้าถือสิทธิในแหล่งสัมปทานปิโตรเลียมที่โอมาน(3 โครงการ) และยังมีโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศอื่น ๆ ด้วย

 

นายพงศธร กล่าวอีกว่า ในช่วง 4-5 ปีนับจากนี้ ปตท.สผ.จะมีอัตราการเติบโตด้านปริมาณการผลิตเฉลี่ย 5-7% ต่อปี แต่หลังจากนั้นอัตราการเติบโตจะลดลงเหลือ 1-2% เนื่องจากบริษัทมีฐานกำลังการผลิตที่ใหญ่ขึ้น

สำหรับงบลงทุนตามแผนงาน 5 ปีของบริษัท(รอบอร์ดอนุมัติเดือนธันวาคมนี้)จะใช้เงินราว 1,700- 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ราว 5.2-6.2 หมื่นล้านบาท คำนวณที่ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยปี 2563 มีแผนเจาะหลุมสำรวจปิโตรเลียมเพิ่ม 20 หลุม ใช้เงินลงทุน 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปีนี้เจาะหลุมสำรวจ 1-3 หลุม ในจำนวน 20 หลุมดังกล่าวหลัก ๆ จะอยู่ในมาเลเซีย 11 หลุม นอกนั้นมีที่เมียนมา โอมาน และยูเออี

 

 

ปตท.สผ.กางแผน 5 ปี เพิ่มผลิต-รายได้ 2 เท่า

 

“ปตท.สผ.ได้กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ “Energy Partner of Choice” โดยเชื่อว่าการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเติบโตไปด้วยกันมีความสำคัญมากกว่าการแข่งขัน จึงได้วางกลยุทธ์การดำเนินงานการขยายธุรกิจโดยเน้นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่มีความชำนาญและมองหาโอกาสทางธุรกิจโดยเน้นการลงทุนใน 5 ประเทศคือไทย มาเลเซีย เมียนมา โอมานและยูเออี จากปัจจุบันมีการลงทุนด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมใน 15 ประเทศทั่วโลก”