ผ่าปมรื้อสายสีส้ม ติดล็อกพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

15 พ.ย. 2562 | 04:45 น.

 

ในที่สุดการลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงบางขุนนนท์- ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) ก็กลับมาใช้วิธีการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost แบบสัญญาเดียวตามรูปแบบเดิมที่วางไว้ แม้ว่าก่อนหน้านี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงคมนาคม นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะเสนอให้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนด้วยการแยกงานโยธาออกมาจ้างเอกชนก่อสร้างด้วยวิธีประมูล

เมื่อย้อนกลับไปจะพบว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้การลงทุนโครงการนี้กลับมาใช้รูปแบบ PPP เนื่องจากการลงทุนโครงการนี้เข้าข่ายลักษณะของกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการตามบทบัญญัติในมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 รฟม.จะต้องจัดทําแผนบริหารจัดการโครงการ ประมาณการรายจ่ายแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดําเนินการ ประโยชน์ที่จะได้รับประเมินภาระทางการคลังการสูญเสียรายได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งจัดทำรายงานเปรียบเทียบประโยชน์ที่ได้รับกับการสูญเสียรายได้ที่เกิดขึ้นจริง

เมื่อพิจารณารายละเอียดของวงเงินค่างานโยธา จํานวน 84,568 ล้านบาท พบว่าโครงการนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่เป็นงบสํารองที่จัดเตรียมไว้ (Provisional Sum งานโยธา) จํานวน 4,029 ล้านบาท และค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุม งานโยธา จํานวน 3,223 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินทั้งสิ้น 96,012 ล้านบาท ถ้ารวมงบที่รัฐจะต้องจ่ายค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินอีก 14,661 ล้านบาท จะทำให้วงเงินลงทุนรวมโครงการนี้กว่า 1.1 แสนล้านบาท

หากรัฐบาลจะเปลี่ยนรูปแบบมาว่าจ้างเอกชนก่อสร้างงานโยธา ก็จะเป็นภาระของรัฐบาลอย่างมากในการตั้งงบประมาณสำหรับว่าจ้างเอกชนเข้ามาดำเนินการ ที่สำคัญยังมีข้อจำกัดในเรื่องของกรอบสัดส่วนการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณรายจ่ายที่กำหนดไว้ว่าต้องไม่เกิน 8% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ทำให้การลงทุนโครงการนี้ต้องกลับมาใช้รูปแบบ PPP ตามที่มีการกำหนดไว้ตั้งแต่แรก 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562

BEM-BTSชิงเดือด ‘ส้มตะวันตก’ขุมทรัพย์รถไฟฟ้า1.2แสนล้าน


ผ่าปมรื้อสายสีส้ม  ติดล็อกพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง