BEM-BTSชิงเดือด ‘ส้มตะวันตก’ขุมทรัพย์รถไฟฟ้า1.2แสนล้าน

15 พ.ย. 2562 | 04:00 น.

 

 

BEM-BTS ชิงดำรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก มูลค่า 1.2 แสนล้าน เส้นผ่าเมืองขุมทองรองสายสีเขียว หลังคลังทุบเปรี้ยงชงครม. เปิดประมูลพีพีพี “วิทูรย์-สุรพงษ์” ประกาศไตรมาส 2 ปีหน้า สู้กันมันหยด

โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ- บางขุนนนท์ มูลค่า 1.2 แสนล้านบาทชัดเจนขึ้นเมื่อกระทรวงการคลังเคาะรูปแบบพีพีพี เน็ต คอสต์ เอกชนลงทุนงานโยธาและเดินรถ หาแหล่งเงินกู้ โดยรัฐต้องชำระภาระหนี้พร้อมดอกเบี้ยคืนเป็นระยะเวลา 10 ปี รวม 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการยืนตามมติเดิม โดยให้เหตุผลที่ว่ารัฐไม่มีงบประมาณลงทุน สำหรับเอกชนคู่ชิงในฐานะผู้ชำนาญ จะมีเพียง 2 ค่าย ได้แก่ บริษัท ทางด่วนและ รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และ บีทีเอสกรุ๊ป เป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงิน และสายสีเขียว ในปัจจุบัน

ทั้งนี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายจะเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนโครงการ จาก พีพีพี เป็นรูปแบบ แยกงานโยธา กับการเดินรถออกจากกัน โดยรัฐลงทุนงานโยธา ส่วนการเดินรถเป็นหน้าที่ของเอกชนผู้รับสัมปทาน ด้วยเหตุผลเพื่อต้องการซอยย่อยโครงการกระจายให้กับบริษัทผู้รับเหมา โดยไม่มีรายใดรายหนึ่งผูกขาด ขณะผู้รับเหมาเองต่างเห็นด้วยเนื่องจากเค้กที่ผ่านมามักตกอยู่ในมือกลุ่มทุนใหญ่ ล่าสุดต้องถูกดับฝันลง เมื่อกระทรวงการคลัง ยืนรูปแบบลงทุนเดิมดังกล่าว สร้างความคึกคักให้กับ 2 คู่ชก อย่าง BEM และ บีทีเอส กรุ๊ป ที่ต้องหันมาลุ้นกันว่า ฝ่ายใดเป็นผู้ได้เปรียบ

 

ประมูลไตรมาส 2 ปี 63

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามกระทรวงคมนาคม พบว่า คณะกรรมการพีพีพี ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ส่งเรื่องไปยัง เลขาฯ ครม. เรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะ ประมูลได้ราวไตรมาส 2 ของปี 2563

สำหรับคณะกรรมการพีพีพีมองว่า รัฐมีงบประมาณจำกัด แต่หากปล่อยให้เอกชนลงทุน รัฐจะมีเวลาจ่ายหนี้คืนในอีก 10 ปีข้างหน้าหลังจากงานก่อสร้างแล้วเสร็จ และจะคำนวณการจ่ายแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ ระยะยาว 10 ปีเหมือนกับรถไฟฟ้าสายสีชมพู และสีเหลือง

 

BEM ยันพร้อมรบ

ขณะการเตรียมความพร้อม นายวิทูรย์ หทัยรัตนา รองกรรมการผู้จัดการ ปฏิบัติการและวิศวกรรมระบบราง บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด(มหาชน)หรือ BEM เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า BEM มีความพร้อมจะเข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันตก รูปแบบรวมงามโยธา กับการเงินรถ และสายสีม่วงใต้ ช่วง เตาปูนราษฎร์บูรณะ ที่จะเปิดประมูลในระยะอันใกล้ โดยเฉพาะสายสีส้ม มีศักยภาพสูง ระยะทางยาว เส้นทางผ่านใจกลางเมือง มีความน่าสนใจ สามารถป้อนผู้โดยสารไปยังสายสีนํ้าเงิน ที่เปิดให้บริการซึ่งหากมีการเปิดใช้เส้นทาง คาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารที่รับมาจากสายสีส้มตะวันออก กว่า 400,000 คน/วัน

สำหรับการประมูลรูปแบบพีพีพียอมรับว่า จะมีเอกชนเพียง 2 รายเข้าแข่งขันขณะข้อดีจะมีมากกว่าเพราะการก่อสร้างงานโยธากับระบบเดินรถต้องสอดประสานกันไม่ต้องแก้ไขในภายหลัง

“รูปแบบพีพีพี คือเราดูตั้งแต่งานก่อสร้าง สามารถบริหารจัดการ ใส่ระบบ ออกแบบ วางโปรแกรมให้สัมพันธ์กัน แต่หากแยกงานโยธา อาจต้องปรับใหม่ ที่สำคัญการดูแลโปรเจ็กต์ ทั้งหมดสามารถกำหนดเรื่องเวลาได้ อย่างไรก็ตามในความเห็นของ นายวิทูรย์ มองว่าการกำหนด
ทีโออาร์ของรัฐ มักไม่เสียเปรียบเอกชน”

 

ไม่กลัวบีทีเอส

อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่าจะชนะประมูลเนื่องจากเป็นผู้รับสัมปทานเดินรถไฟฟ้าใต้ดินรายแรกและสายแรกมาก่อนจึงมีความชำนาญโดยเฉพาะอุโมงค์ใต้ดิน

เมื่อสอบถามถึงบีทีเอสกรุ๊ปในฐานะ คู่แข่ง นายวิทูรย์ระบุว่า เชื่อว่า บีทีเอส ต้องมีการ
เตรียมความพร้อมเช่นเดียวกันเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ไม่ได้ปล่อยออกมามากนักในช่วงนี้

ทั้งนี้ ช่วงแข่งขันประมูลงานจะเป็นคู่แข่ง เพราะต่างคนต่างต้องการงาน แต่หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้งานไป ก็จะเป็นลักษณะพันธมิตรกัน ต้องป้อนผู้โดยสารไปมาระหว่างกัน โดยอัตโนมัติ


BEM-BTSชิงเดือด  ‘ส้มตะวันตก’ขุมทรัพย์รถไฟฟ้า1.2แสนล้าน

 

 

 

 

บีทีเอส มั่นใจคว้าสายสีส้ม

ด้าน นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)ระบุว่า บีทีเอส พร้อมประมูลสายสีส้มตะวันตก เนื่องจากมีศักยภาพสูง เส้นผ่าเมือง ผ่านจุดสำคัญย่านใจกลางเมือง อย่างประตูนํ้า พญาไท ฯลฯ รองจาก บีทีเอส สายสีเขียว สายสุขุมวิท-สีลม ส่งผลให้ตลอดแนวเส้นทางกลายเป็นทำเลทอง มีนักลงทุนเข้าพื้นที่ขึ้นตึกสูง พัฒนาที่อยู่อาศัย เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยดึงคนเข้าใช้บริการรถไฟฟ้า และมีการประเมินกันว่าหาก สายสีส้มตะวันตกและตะวันออกใช้บริการ จะมีผู้โดยสารมากถึง 4 แสนคนต่อวัน

แต่ทั้งนี้ บีทีเอส มั่นใจว่าจะได้สายสีส้มเนื่องจากการลงทุนเหมือนกับสายสีชมพู และสายสีเหลือง ส่วนการระดมทุนน่าจะใช้แหล่งเงินกู้ จากสถาบันการเงิน แต่เอกชนมักจะกู้ดอกเบี้ยที่สูง ขณะรัฐจะกู้ได้ถูกกว่า จึงเป็นเหตุให้ต้นทุนสูง

 

รฟม.ขานรับคลัง

แหล่งข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ระบุว่ารฟม.ยึดตามนโยบายรัฐ ไม่ว่าจะลงทุนรูปแบบใด เนื่องจากรฟม. ไม่มีงบประมาณ และมีภาระหนี้ค่อนข้างมาก อย่างไรก็ตาม หากเปรียบระหว่างรูปแบบพีพีพี กับแยกงานโยธากับการเดินรถ พบว่าแบบพีพีพี จะเกิดความสะดวกรวดเร็ว แต่ข้อเสีย ค่าลงทุนแพง รัฐรับภาระหนี้สูง ทั้งนี้ไม่ว่าการลงทุนรูปแบบไหน รัฐก็เป็นฝ่ายต้องชำระหนี้ให้เอกชน 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562

 ผ่าปมรื้อสายสีส้ม ติดล็อกพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง

 

BEM-BTSชิงเดือด  ‘ส้มตะวันตก’ขุมทรัพย์รถไฟฟ้า1.2แสนล้าน