เงินลงทุนอีอีซี 9 เดือน ลดฮวบ 23%

14 พ.ย. 2562 | 04:50 น.

 

บีโอไอ เผยยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซี 9 เดือน พุ่ง 360 โครงการ แต่เม็ดเงินลงทุนทรุดฮวบ 23% อยู่ที่ 1.67 แสนล้านบาท จากปัจจัยไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังมาแรง

การขับเคลื่อนเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ในช่วงปีที่ผ่านมา มีความคืบหน้าเป็นลำดับ โดยมีโครงสร้างสำคัญ อย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ได้มีการลงนามร่วมลงทุนภาครัฐและเอกชนไปแล้ว ขณะที่การลงทุนของ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีนักลงทุนต่างประเทศอย่างเช่น ญี่ปุ่นและจีน ได้เข้ามาขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เห็นได้จากภาพรวมการยื่นขอลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 9 เดือนของปี 2562 มีจำนวน 689 โครงการ เงินลงทุน 203,366 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 69% โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีจำนวนโครงการและมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 1 มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 167 โครงการเงินลงทุน 59,187 ล้านบาท ตามด้วยจีน มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 139 โครงการ เงินลงทุน 45,439 ล้านบาท และสวิตเซอร์แลนด์ มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 15 โครงการ เงินลงทุน 11,710 ล้านบาท ซึ่งสอดรับการลงทุนในพื้นที่อีอีซี ที่มีโครงการเข้ามายื่นขอรับการส่งเสริมเป็นจำนวนมาก


 

 

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ภาวะการส่งเสริมการลงทุนช่วง 9 เดือนของปี 2562 (มกราคม-กันยายน) มียอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 360 โครงการ เพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ 262 โครงการโดยมีเงินลงทุนรวม 167,926 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียว กันของปีก่อนอยู่ที่ 230,554 ล้านบาท หรือลดลง 23% เนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามา เมื่อเทียบกับปีก่อน มีโครงการขนาดใหญ่ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นขอส่งเสริมในกิจการผลิตนํ้ามันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปในพื้นที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี มูลค่าลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท

 

เงินลงทุนอีอีซี  9 เดือน ลดฮวบ 23%

 

ทั้งนี้ หากแยกเป็นรายจังหวัดจะพบว่า ชลบุรียังเป็นพื้นที่ที่นักลงทุนให้ความสำคัญสูงสุด โดยมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 163 โครงการเงินลงทุน 92,103 ล้านบาท รองลงมาเป็นระยอง จำนวน 157 โครงการ เงินลงทุน 57,931 ล้านบาท และฉะเชิงเทรา 40 โครงการ เงินลงทุน 17,892 ล้านบาท

 

ส่วนการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ อีอีซี ช่วง 9 เดือนปีนี้นั้น พบว่า มีจำนวน 177 โครงการ เงินลงทุน 86,680 ล้านบาท โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยังได้รับความนิยมสูงสุด จำนวน 51 โครงการ เงินลงทุน 26,547 ล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน จำนวน 43 โครงการ เงินลงทุน 30,822 ล้านบาท และอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ จำนวน 36 โครงการ เงินลงทุน 14,458 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนยังเป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่นและจีน เป็นส่วนใหญ่

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เหลือของปีนี้ การยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ราว 3 แสนล้านบาทหรือไม่นั้น คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากที่มีมาตรการกระตุ้นการลงทุน Thailand Plus Package ในการให้สิทธิประโยชน์และการเพิ่มความสะดวกในการดำเนินงาน

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,522 วันที่ 14-16 พฤศจิกายน 2562