“สุริยะ”ตั้งเป้า TSBC ฮับพัฒนาพันธุ์อ้อยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

12 พ.ย. 2562 | 03:05 น.

รมว.อุตสาหกรรมนำทีมพบชาวไร่อ้อยกาญจนบุรี พร้อมตรวจเยี่ยมศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางพัฒนาพันธุ์อ้อยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“สุริยะ”ตั้งเป้า TSBC ฮับพัฒนาพันธุ์อ้อยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

                นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม  เปิดเผยว่า ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย และต้องการสร้างความมั่นคงในการทำอาชีพไร่อ้อย โดยเฉพาะเกษตรกรชาวไร่อ้อยรายเล็กที่มีจำนวนมาก แต่ยังไม่สามารถเข้าถึงและนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาในไร่อ้อยเพื่อลดต้นทุนการผลิตได้มากนัก นอกจากนี้ยังพบปัญหาการขาดแคลนพันธุ์อ้อยที่ดีที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค เนื่องจากในอดีตการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์อ้อยต้องใช้เวลานานกว่า 12 ปี  ทำให้มีพันธุ์อ้อยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยเลือกปลูกไม่มาก และบางพันธุ์เริ่มเสื่อมสภาพพบปัญหาการสะสมของโรคและแมลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคใบขาวของอ้อย หากเกิดการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตอ้อยโดยรวมของประเทศและรายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยจะลดลง กระทรวงอุตสาหกรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) เล็งเห็นความสำคัญและต้องการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย

ทั้งนี้  จึงได้จัดตั้งศูนย์การปรับปรุงพันธุ์อ้อยแห่งประเทศไทย (THAILAND SUGARCANE BREEDING CENTER) หรือที่เรียกกันว่า TSBC ขึ้นที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายภาคที่ 1 ตำบลทุ่งทอง อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี โดยตั้งเป้าหมายพัฒนาให้ TSBC เป็นศูนย์กลางการปรับปรุงพันธุ์อ้อยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในระดับโลก มีความเป็นสากล และเป็นศูนย์กลางในการสร้างและรวมเครือข่ายงานวิชาการด้านอ้อยของประเทศไทย และขยายผลการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาล นักวิชาการ และผู้ที่สนใจ

“สุริยะ”ตั้งเป้า TSBC ฮับพัฒนาพันธุ์อ้อยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นอกจากนี้  ยังมีการสร้างและพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบสนองกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยอย่างมีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำ ลดรอบเวลาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยให้รวดเร็วกว่าในอดีตที่ต้องใช้เวลากว่า 12 ปี ให้เหลือเพียง 6 – 8 ปี โดยนำเอาระบบเทคโนโลยีชีวภาพและชีวโมเลกุล ได้แก่ DNA Finger Print และ DNA Marker เข้ามาใช้ในกระบวนการปรับปรุงพันธุ์อ้อยตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ การผสมพันธุ์ การจับคู่ผสม การคัดเลือกพันธุ์อ้อยด้วยระบบโทรศัพท์อัจฉริยะ (Smart Phone) และกระจายอ้อยลูกผสมไปปลูกในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อทดสอบการเจริญเติบโตการปรับตัวและการให้ผลผลิตและคุณภาพอ้อยที่หลากหลายในแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งระดับความต้านทานต่อโรคและแมลงศัตรูอ้อย นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาโปรแกรมและแอปพลิเคชัน (Application) เพื่อใช้สนับสนุนการทำงานของกลุ่มเครือข่ายนักปรับปรุงพันธุ์ คัดเลือกพันธุ์ ทดสอบพันธุ์ และขยายพันธุ์อ้อย พร้อมทั้งมีระบบรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลการปรับปรุงพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์อ้อยที่เป็นปัจจุบัน 

นายสุริยะ กล่าวต่อไปอีกว่า  TSBC เป็นศูนย์การวิจัยและพัฒนาการปรับปรุงพันธุ์อ้อยด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการปรับปรุงพันธุ์อ้อยภายในศูนย์ ได้แก่ อาคารควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อควบคุมการออกดอกของอ้อย (Photo Period House) สามารถเพิ่มความหลากหลายการจับคู่ผสมพันธุ์อ้อย โรงเรือนผสมพันธุ์อ้อย (Crossing House) ธนาคารเมล็ดพันธุ์อ้อย (Seed Bank) โรงเรือนเพาะชำเมล็ดอ้อย โรงเรือนอนุบาลกล้าอ้อย อาคารปฏิบัติการชีวโมเลกุล และอาคารวิเคราะห์คุณภาพอ้อย (C.C.S.) ซึ่งการดำเนินงานทั้งหมดนี้ จะทำให้ได้อ้อยพันธุ์ดีสายพันธุ์ใหม่ที่บริสุทธิ์และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในแต่ละภูมิภาค มีผลผลิตและคุณภาพอ้อยในระดับที่สูง เพื่อนำไปมอบให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั่วประเทศเพื่อใช้ปลูกเป็นพันธุ์ในฤดูการผลิตต่อไป

“สุริยะ”ตั้งเป้า TSBC ฮับพัฒนาพันธุ์อ้อยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ดี  อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย คือ การลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตอ้อย แต่เนื่องจากในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่ยังขาดองค์ความรู้ที่ถูกต้องในการปลูกและบริหารจัดการไร่อ้อยที่ดี จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรสมัยใหม่นำเทคโนโลยีที่เหมาะสมและราคาไม่แพงเข้ามาใช้ในไร่อ้อย โดยการอบรมให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยได้รับความรู้ความเข้าใจและวิธีการที่ถูกต้องในการปลูกอ้อย ตั้งแต่การเตรียมดิน  การคัดเลือกพันธุ์ การปลูกอ้อย การบำรุงรักษา การลด/เลิกการใช้สารเคมีในไร่อ้อย ไปจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ อันเป็นการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เพื่อยกระดับการทำไร่อ้อยแบบ Thailand 4.0 ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถนำทฤษฎีและความรู้ไปปฏิบัติได้จริงและเห็นผลเป็นรูปธรรม มีการพัฒนาประสิทธิภาพในการทำอ้อย เพิ่มผลผลิตและคุณภาพอ้อยมุ่งสู่ไร่อ้อย 4.0 ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีรายได้เพิ่มขึ้น เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกอ้อย และเพิ่มขีดความสามารถให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายของไทยสามารถแข่งขันได้ทั้งในตลาดอาเซียนและตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน