มะกันซบอาเซียน ยึด3ชาติฐานลงทุน

09 พ.ย. 2562 | 08:40 น.

บิ๊กธุรกิจสหรัฐฯ 200 ราย แห่ปักฐานอาเซียนเพิ่ม โฟกัส “ไทย-เวียดนาม-อินโดฯ” ดาวเด่น สภาหอฯ ชี้ผลพวงสงครามการค้า หวังคานอำนาจจีน ระบุไทยขี่เวียดนาม มะกันคุ้นชินเศรษฐกิจเสรีนิยม

การนำคณะผู้แทนหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ และผู้บริหารระดับสูงของภาคเอกชนอเมริกัน 200 ราย เยือนไทยเพื่อร่วมงาน “อินโด-แปซิฟิก บิสิเนส ฟอรัม ครั้งที่ 2” เมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา และอีก 2 ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ อินโดนีเซียและเวียดนาม (5-8 พ.ย.) นำคณะโดยนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีพาณิชย์ สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของภูมิภาคอาเซียนซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในฐานะแหล่งรองรับการลงทุนโดยตรง (FDI) และศูนย์กลางแห่งการเติบโตของธุรกิจสหรัฐฯ ตามยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ประกาศไว้เมื่อช่วงปลายปี 2560

 

คณะใหญ่สุดเท่าที่เคยมีมา

คณะผู้แทนภาครัฐและเอกชนอเมริกันดังกล่าวเป็นคณะใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในภูมิภาคนี้ ประกอบด้วยผู้บริหารของบริษัทที่มีนวัตกรรม ทรงอิทธิพล และได้รับความไว้วางใจเป็นอันดับต้นๆ ของโลก มีรายได้รวมมูลค่ากว่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี อาทิ บริษัท AES Corporation, Baxter International, Bechtel, Bell Textron, Boeing, Capstone Turbine Company, Cheniere Energy, Citi, Honeywell International, LNG Limited/Magnolia LNG, Lockheed Martin, Qualcomm, Securiport, Sierra Nevada, Tellurian, Tesla และ Varian Medical Systems รวมถึงสภาบริษัทวิศวกรรมอเมริกัน (American Council of Engineering Companies) บริษัทเหล่านี้มีส่วนร่วมในการสร้างยอดการลงทุนโดยตรงคิดเป็นมูลค่าสูงที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก คือกว่า 8.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นการลงทุน FDI ที่มุ่งมายังภูมิภาคอาเซียนกว่า 2.71 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐน ซึ่งมากกว่าการลงทุนในจีนและญี่ปุ่นรวมกัน

ข้อมูลจากสำนักงานโฆษก กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เผยแพร่เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562 ชี้ว่า สหรัฐฯ มีนโยบายขยายขอบเขตความเป็นหุ้นส่วนกับอาเซียนอย่างยืนนาน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับ 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนมีความแข็งแกร่งมากกว่าที่เคยเป็นมา ผลการศึกษาของหน่วยงานสหรัฐฯ พบว่า ศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย อินโดนีเซีย และเวียดนามนั้น สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การขยายความร่วมมือด้านการลงทุนของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ที่เน้น 3 ด้านสำคัญ ได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจดิจิทัล และพลังงาน

ทั้ง 3 ประเทศดังกล่าวไม่เพียงมีแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี แต่ยังมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับแผนขยายการลงทุนของสหรัฐฯ เช่น นโยบายประเทศไทย 4.0 และการพัฒนาพื้นที่อีอีซีของไทยที่มุ่งเน้นพัฒนาอุตสาห กรรมที่ทันสมัยและยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน มีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มมากขึ้นเฉลี่ยปีละ 3% 

มะกันซบอาเซียน  ยึด3ชาติฐานลงทุน
 

ไทยชิงดำเวียดนาม

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สหรัฐฯ มาลงทุนในภูมิภาคนี้มากขึ้นเพราะต้องการถ่วงดุลอำนาจกับจีน นอกจากนี้ ยังเชื่อว่าสหรัฐฯ จะเข้ามามีบทบาทในรูปการให้เงินกู้สนับสนุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ มากขึ้นด้วย เช่น ถนน รถไฟ ท่าเรือ ธุรกิจเครื่องมือสื่อสาร และไอทีต่างๆ เชื่อว่า ประเทศที่สหรัฐฯ สนใจลงทุนในช่วงเวลานี้คงเป็นไทยและเวียดนาม

“ที่ผ่านมาสหรัฐฯ ก็มาลงทุนที่ไทยและในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว โดยด้านพลังงานเป็นจุดที่สหรัฐฯสนใจ โดยอยากให้ไทยใช้ก๊าซ LNG ที่สหรัฐฯ สามารถส่งให้ได้ ส่วนพลังงานทางเลือกอื่นๆ สหรัฐฯ ก็สนใจ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานแสงแดด หรือลม” ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยต้องคบหลายๆ ทาง ทั้งจีน ญี่ปุ่น อเมริกา เพราะไทยเองก็เนื้อหอม นอกจากโลเกชันดี ตำแหน่งทางยุทธศาสตร์อยู่ใจกลางภูมิภาคแล้ว ต่างชาติยังสบายใจกับคนไทย และเมืองไทยก็น่าอยู่ แต่สิ่งที่เห็นว่ายังเป็นอุปสรรคสำหรับการลงทุนของต่างชาติ คือ เรื่องของแรงงานที่มีไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัล

นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในการลงทุนมองว่าสหรัฐฯ จะเลือกไทยมากกว่า เพราะไทยเป็นระบบเศรษฐกิจเสรีที่สหรัฐฯ คุ้นชิน ขณะที่เวียดนามยังเป็นระบบสังคมนิยม ส่วนอินโดนีเซียพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกาะระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ยังสู้ไทยไม่ได้

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3521 วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2562

มะกันซบอาเซียน  ยึด3ชาติฐานลงทุน