รับบัญชา “บิ๊กตู่” สร้างความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์

07 พ.ย. 2562 | 10:35 น.

กรมทรัพย์สินทางปัญญา รับนโยบายนายกรัฐมนตรี เร่งสร้างความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์ ป้องกันล่อให้กระทำผิดเพื่อแสวงหาผลประโยชน์

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญาสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันการล่อให้กระทำความผิด โดยในเบื้องต้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เชิญบริษัทตัวแทนเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้แทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) มาประชุมหารือแนวทางป้องกันการแอบอ้างหาประโยชน์จากงานลิขสิทธิ์ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 โดยมีนายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

รับบัญชา “บิ๊กตู่”  สร้างความเข้าใจเรื่องลิขสิทธิ์

                                   ทศพล  ทังสุบุตร

ทั้งนี้ได้กำชับแนวทางปฏิบัติของผู้รับมอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจช่วงให้ดำเนินการตามกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมายและคำนึงถึงความ      เป็นธรรม รวมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจในการพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะ   การตรวจสอบหนังสือมอบอำนาจของเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบโดยอาศัยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ผลิตหรือผู้ค้า รวมทั้งบางรายที่เป็นเด็กหรือเยาวชน

 

“โดยหลักแล้วเจ้าของงานลิขสิทธิ์ เช่น ภาพยนตร์ ซอฟต์แวร์ เพลง ภาพถ่าย และภาพวาด รวมทั้งตัวการ์ตูนหรือลวดลายการ์ตูน ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ของตน การนำงานดังกล่าวมาผลิตเป็นสินค้า เช่น ตุ๊กตา เสื้อผ้า ขนมเค้ก แก้วน้ำ ผ้าห่ม อุปกรณ์และเครื่องใช้ต่างๆ เป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ หากไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์”

 ดังนั้น จึงขอแนะนำผู้ผลิตหรือผู้ค้าทุกท่านว่าหากมีผู้ว่าจ้างให้ผลิต หรือก่อนรับของมาขาย ควรไตร่ตรองตรวจสอบให้รอบคอบก่อน เพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์และป้องกันการถูกล่อให้กระทำความผิด หากมีข้อสงสัยในเรื่องลิขสิทธิ์หรือประเด็นด้านทรัพย์สินทางปัญญาอื่นๆ สามารถสอบถามหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่สำนักป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา         กรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร 0-2547-4702

 

 สำหรับเรื่องของกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย ในการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2562   ที่ประชุมมีความเห็นว่า ตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา การล่อให้ผู้อื่นกระทำความผิด โดยที่ผู้นั้นไม่ได้มีเจตนากระทำความผิดมาก่อน ถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ไม่มีสิทธิที่จะมาร้องทุกข์กล่าวโทษผู้อื่น เพราะไม่ถือว่าเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัย อีกทั้งพยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อให้กระทำความผิดถือว่าเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา ให้ข้อมูลด้วยว่า        ผู้ที่ถูกจับกุมสามารถที่จะใช้สิทธิของตนตามกฎหมายได้ เช่น สิทธิที่จะมีทนายความ และหากผู้ที่ถูกจับกุม      เป็นเด็กหรือเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี สามารถร้องขอให้มีสหวิชาชีพร่วมฟังการสอบสวนได้