อู่ตะเภาปรอทแตก บีบีเอสทุ่ม3แสนล้าน

06 พ.ย. 2562 | 05:20 น.

 

กลุ่มบีบีเอส นำโดย “เจ้าสัวคีรี-หมอเสริฐ-ตระกูลชาญวีรกูล” ทุ่ม 3.05 แสนล้าน จ่ายค่าสัมปทานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา สูงกว่าผลตอบแทนขั้นตํ่าที่รัฐกำหนดถึง 2.46 แสนล้าน ลุ้นศาลปกครองสูงสุดชี้ชะตา “กลุ่มซีพี”

คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ให้ทุเลาการบังคับของคณะกรรมการคัดเลือกโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินฯที่ไม่รับซองของซีพีเพราะยื่นเกินเวลา9นาที

ในวันที่ 7 พฤศจิกายนนี้ ศาลได้นัดไต่สวนครั้งที่ 1 ในคดีที่กลุ่มกิจการค้าร่วมบริษัทธนโฮลดิ้งจำกัด (CP) และพันธมิตรยื่นฟ้อง

ขณะนี้คณะกรรมการคัดเลือกฯอยู่ระหว่างพิจารณาข้อเสนอซอง 2 (ด้านเทคนิคและแผนธุรกิจ) กล่องที่ 6 และน่าจะประกาศผลได้ภายในเร็วๆนี้ ซึ่งคาดว่ากลุ่มธนโฮลดิ้ง ก็คงผ่านคุณสมบัติข้อเสนอซอง 2 จากนั้นก็จะมีการพิจารณาซอง 3 (ข้อเสนอด้านราคา) กล่องที่ 9 ของกลุ่มธนโฮลดิ้งต่อไป แต่การที่กลุ่มธนโฮลดิ้งจะได้ไปต่อ จนสิ้นสุดกระบวนการประมูลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาคดีของศาลปกครองสูงสุดที่จะเกิดขึ้น

อู่ตะเภาปรอทแตก  บีบีเอสทุ่ม3แสนล้าน

‘กลุ่มบีบีเอส’ทุ่ม3.05แสนล้าน

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการเปิดซองราคาของ 2 กลุ่มผู้ผ่านคุณสมบัติซอง2 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ก่อนหน้านี้ พบว่า กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ได้แก่ บริษัทบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ,บริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA และบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)  เสนอผลตอบแทนให้รัฐอยู่ที่ 3.05 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่าที่รัฐคาดหวังไว้ถึง 2.46 แสนล้านบาท 

จากที่รัฐคาดว่าเอกชนจะเสนอค่าตอบแทนให้ภาครัฐ 5.9 หมื่นล้านบาท ขณะที่กลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตียม เสนอผลตอบแทนให้รัฐ อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท

“งานนี้จึงต้องวัดกันที่ข้อเสนอซอง 3 ที่กลุ่มธนโฮลดิ้งเคยยื่นเอาไว้ว่า จะเสนอผลตอบแทนสูงกว่ากลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส ที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐอยู่ที่ 3.05 แสนล้านบาทหรือไม่ เพราะใครเป็นผู้เสนอค่าตอบแทนให้รัฐสูงสุดก็มีโอกาสจะเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้”

อู่ตะเภาปรอทแตก  บีบีเอสทุ่ม3แสนล้าน

ธุรกิจสนามบินกำไรงาม

การเสนอค่าตอบแทนให้รัฐในโครงการประมูลอู่ตะเภา ของทั้งกลุ่มธนโฮลดิ้งและบีบีเอส น่าจะมีการเสนอราคาที่สูงจากราคาที่รัฐคาดหวังไว้มาก เพราะธุรกิจสนามบินเป็นธุรกิจที่สามารถทำกำไรได้ดีในช่วงอายุสัญญา 50 ปี และยังมีความเสี่ยงในการลงทุนน้อยกว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน(ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) เพราะเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ ที่สามารถพัฒนาได้ทันที ไม่มีปัญหาเรื่องเวนคืน หรือมีความยุ่งยากในการนำพื้นที่มาพัฒนา ซึ่งบีทีเอส และ BA ก็ครํ่าหวอดในธุรกิจนี้ จึงมองโอกาสในการทำธุรกิจที่จะเกิดขึ้น

อู่ตะเภาปรอทแตก  บีบีเอสทุ่ม3แสนล้าน

สำหรับทิศทางของการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาที่จะเกิดขึ้นหลังได้ผู้ชนะประมูล หากกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส เป็นผู้ชนะการประมูล ทางบริษัทผู้บริหารสนาม บินนาริตะ ก็จะมาบริหารสนามบินอู่ตะเภา และไม่ว่าใครจะเป็นผู้ชนะการประมูล ก็มีสิทธิที่จะไปดึงบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.เข้ามาร่วมลงทุนในโครงการนี้ได้ด้วย

อย่างไรก็ตามหากกลุ่มธนโฮลดิ้งฯชนะประมูล ทางบริษัท Fraport AG Frankfurt Airport Services Worldwide (ฟราพอร์ท) ซึ่งเป็นผู้บริหารท่าอากาศยานนานาชาติแฟรงก์เฟิร์ต เป็นท่าอากาศยานที่ใหญ่ที่สุดของเยอรมนี และใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป จะเข้ามาเป็นผู้บริหารสนามบินอู่ตะเภา

อู่ตะเภาปรอทแตก  บีบีเอสทุ่ม3แสนล้าน

ลุ้นศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด

ส่วนกลุ่มใดจะเป็นผู้ชนะการประมูลในครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่จะเกิดขึ้น ซึ่งมีอยู่ 2 แนวทาง ซึ่งแนวทางแรก คือ ถ้าศาลปกครองสูงสุดมีมติยกคำร้องเหมือนที่ศาลปกครองกลางเคยมีมติไว้ ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯก็จะไม่นำซองยื่นเกินเวลาของกลุ่มธนโฮลดิ้งฯมาพิจารณา งานนี้กลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส มีโอกาสชนะการประมูลครั้งนี้แน่นอน

ขณะที่แนวทางที่ 2 หากศาลปกครองสูงสุด มีมติให้คณะกรรมการคัดเลือกฯรับซองที่เกินเวลาของกลุ่มธนโฮลดิ้งมาพิจารณา เหมือนเช่นมติที่เคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนหน้านี้ ก็จะทำให้กลุ่มธนโฮลดิ้ง เข้าสู่การแข่งขันได้เต็มร้อย เช่นเดียวกับกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอส และกลุ่มแกรนด์คอนซอร์เตียม

“สำหรับไทม์ไลน์การประมูลสนามบินอู่ตะเภา คาดว่าภายในเดือนธันวาคมนี้น่าจะอยู่ในขั้นตอนเจรจาสัญญากับผู้เสนอราคาสูงสุด เสนอครม. และคาดว่าจะเซ็นสัญญาร่วมทุนได้ในเดือนมกราคม 2563” 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3520 วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 3562

อู่ตะเภาปรอทแตก  บีบีเอสทุ่ม3แสนล้าน