ลุยรับมือ 4.0-ค้าดิจิทัล วาระร้อน หลังอาเซียนซัมมิท

07 พ.ย. 2562 | 05:10 น.

 

สัมภาษณ์

 

ปิดฉากไปแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดอาเซียน หรืออาเซียนซัมมิทครั้งที่ 35 และการประชุมที่เกี่ยวข้องกับประเทศคู่เจรจาระหว่างวันที่ 2-4 พฤศ จิกายน 2562 ซึ่งในภาพรวมของการจัดงานสำเร็จลงเป็นที่น่าพอใจ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าคือ หลังจากนี้การบ้านที่ภาครัฐและเอกชนของไทยและอาเซียนต้องร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันให้ประสบผลสำเร็จในทางปฏิบัติร่วมกัน

ทั้งนี้ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่การเตรียมพร้อมรับมือกับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการใช้ดิจิทัลสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยของอาเซียน การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะเพื่อรองรับ 4.0 ที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ รวมถึงนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่จะเข้ามามีบทบาททดแทนแรงงานคนมากขึ้น รวมถึงการเตรียมตัวของผู้ประกอบการเข้าสู่การค้าด้วยดิจิทัลเพื่อให้มีความสะดวกรวดเร็ว และช่วยลดต้นทุน เป็นต้น

 

ติวเข้มแรงงานอาเซียน                       

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เผยกับฐานเศรษฐกิจว่า รอบ 1 ปีที่ไทยเป็นประธานอาเซียนสามารถผลักดันการเจรจาหาข้อสรุปความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐ กิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) เพื่อนำไปสู่การลงนามความตกลง เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในอนาคต ถือเป็นผลงานสำคัญร่วมกันของอาเซียนในครั้งนี้

 

ลุยรับมือ 4.0-ค้าดิจิทัล  วาระร้อน  หลังอาเซียนซัมมิท

                                        กลินท์ สารสิน

ที่อยากให้อาเซียนผลักดันต่อไปให้สำเร็จคือการเชื่อมโยงกันในทุกมิติ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐาน การถ่ายเทหรือเคลื่อนย้ายบุคคล รวมถึงการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อรองรับยุค 4.0 หรือยุคดิจิทัลที่จะมาเร็วมาก จะพัฒนาคนอย่างไรไม่ให้ตกงาน และคนที่ตกงานแล้วจะ Upskill หรือ Reskill อย่างไร ถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เพราะในอนาคตการแข่งขันโดยใช้เรื่องค่าแรงต่ำไม่ได้แล้ว ต้องใช้เครื่องจักร โรโบติกเข้ามาช่วยมากขึ้น แรงงานอาจจะต้องไปทำอย่างอื่นมากขึ้น ซึ่งการมีทักษะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากทุกคนมีทักษะ จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และช่วยลดความเหลื่อมลํ้าลงได้มาก

 

 

ดันค้าดิจิทัลไทย-อาเซียน

ขณะเดียวกันการพัฒนาการค้าระบบดิจิทัลในอาเซียนเป็นอีก 1 เรื่องสำคัญที่ภาครัฐและเอกชนของไทยและอาเซียนต้องเร่งช่วยกันผลักดัน ซึ่งในการจัดงาน ASEAN Business and Investment (ABIS) Summit 2019 ซึ่งเป็นเวทีของภาคเอกชน 3 สถาบัน คู่ขนานการประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งนี้ได้แถลงถึงความสำเร็จในการทดลองระบบการค้าระหว่างประเทศด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนร่วมกับ บริษัท NTT Data จากญี่ปุ่นเพื่อศึกษาความเป็นไปได้และประโยชน์ที่ได้รับจากระบบภายใต้โครงการ National Digital Trade Platform (NDTP)(แพลตฟอร์มการทำการค้าในรูปแบบดิจิทัล)โดยได้ทดสอบกับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น ใบสั่งซื้อสินค้า ใบส่งสินค้า ใบกำกับการขนส่ง ใบขนส่งสินค้าทางเรือ ใบรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ใบอนุญาตเพื่อส่งออกสินค้า ทั้งหมดในระบบดิจิทัลพบว่าสามารถประหยัดเวลาได้ถึง 60% และช่วยลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลงได้มาก ซึ่งทางภาคเอกชนจะร่วมผลักดันกับภาครัฐเพื่อเชื่อมโยงระบบการค้าดิจิทัลกับอาเซียน และกับทั่วโลกในอนาคต

 

ลุยรับมือ 4.0-ค้าดิจิทัล  วาระร้อน  หลังอาเซียนซัมมิท

                                             อรินทร์ จิรา

 

ห่วง MSMEs ไม่รอด                    

ขณะที่นายอรินทร์ จิรา ประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน (ASEAN-BAC) อาเซียนเผยว่า ในการก้าวเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 การค้าและเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนาคน หรือบุคลากรให้มีทักษะความชำนาญเพื่อรองรับถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทำอย่างไรให้คนที่ตกงานได้มีงานใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนพยายามทำอยู่แล้ว และอยากให้รัฐบาลช่วยให้การศึกษา การจัดสัมมนา และป่าวประกาศให้ทุกฝ่ายเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ รวมถึงส่งไม้ต่อให้เวียดนามที่จะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า (2563) ช่วยผลักดันในภาพรวมของอาเซียนอีกทางหนึ่ง

 

ที่ผมห่วงคือ MSMEs (บริษัทขนาดกลาง ขนาดย่อมและรายย่อย)ที่เป็นกลุ่มที่มีจำนวนมากสุดของประเทศ ที่ไม่ได้อยู่ในห่วงโซ่ของบริษัทใหญ่ จะไม่มีโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงานเพราะฉะนั้นเรื่องนี้เราต้องช่วยเขา เพราะ MSMEs ถือเป็นกระดูกสันหลังของอาเซียน ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ดังนั้นต้องมีโปรแกรมช่วย ทั้งเรื่องการพัฒนาทักษะ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน แหล่งการตลาด นวัตกรรม และเทคโนโลยี เพราะถ้าเราและรัฐบาลไม่ช่วยพวกนี้จะลำบาก

อีกเรื่องคือ การเปิดเสรีการค้า การลงทุนทั้งในอาเซียน และอาร์เซ็ป หลายประเทศยังมีการออกมาตรการต่าง ที่เป็นการกีดกันการค้า (NTMs หรือ NTBs) เรื่องนี้ทางสภาที่ปรึกษาธุรกิจฯ มีการผลักดันลดอุปสรรคทางการค้าหลายปีแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ ถือเป็นอีก 1 เรื่องใหญ่ที่ภาครัฐและเอกชนของแต่ละประเทศช่วยกันแก้ไขผลักดัน เพราะไม่มีประโยชน์ที่ภาษีนำเข้าระหว่างกันลดลงเป็นศูนย์ แต่ยังติดกฎระเบียบของประเทศปลายทาง

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับที่ 3,520 วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2562

ลุยรับมือ 4.0-ค้าดิจิทัล  วาระร้อน  หลังอาเซียนซัมมิท