ลดหย่อนภาษี 200% ปั้น 2 แสนคนดิจิทัล

08 พ.ย. 2562 | 08:20 น.

 

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีการประเมินว่าในระยะเวลา 5 ปีจากนี้ไป พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี จะมีความต้องการกำลังคนดิจิทัล กว่า 2 แสนคน ทำให้ต้องเร่งการพัฒนาคน โดยเน้นการเพิ่มกลุ่มแรงงานใหม่เข้าสู่ตลาด ประกอบด้วย กลุ่มนักศึกษาสาขาเทคโนโลยีและสาขาอื่น รวมถึงผู้ว่างงาน เสริมด้วยการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในสาขาที่ขาดแคลนผ่านกลไก Smart VISA เพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญ 3 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล จำนวน 116, 222 คน ที่ประเมินเงินลงทุน 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ จำนวน 58,228 คน ที่ประเมินจากเงินลงทุน 2 หมื่นล้านบาทต่อปี และในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์จำนวน 37,526 คน ที่ประเมินจากการลงทุนสร้างโรง งานเพิ่มขึ้นปีละ 8 หมื่นล้านบาท

 

ลดหย่อนภาษี 200%  ปั้น 2 แสนคนดิจิทัล

 

เร่งดำเนินงาน12แนวทาง

การดำเนินงานดังกล่าวนี้ คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เห็นชอบให้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับสกพอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลให้ได้ตามเป้าหมาย

ทั้งนี้ในการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุ ตามเป้าหมายดังกล่าว จะมีการดำเนินงานในกรอบ 12 แนวทาง ประกอบด้วย

1. การร่วมกับผู้นำทางเทคโนโลยีผู้ประกอบการ ภาคการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ โดยใช้กลไกการทำงานจากการรวบรวมหลักสูตรด้านดิจิทัลจาก กลุ่มเจ้าของเทคโนโลยี เช่น Huawei, CISCO, Oracle,Microsoft, IBM, Amazon Web Service (AWS) รวมถึงสถาบันกลางที่ให้การรับรองมาตรฐาน เช่น CompTIA สอบทานการยอมรับกับภาคอุตสาหกรรมผู้ใช้ เพื่อขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่ตรงกับความต้องการของตลาด และนำขึ้นแพลตฟอร์มกลางเพื่อใช้อ้างอิงหรือแนวทางในการพัฒนาทักษะดิจิทัล หรือใช้อ้างอิงในการรับสิทธิการใช้มาตรการต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวกับด้านกำลังคนดิจิทัล เช่น การผลักดันการประกอบการลดหย่อนภาษี 200% จากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน แบ่งเป็น 100% แรกสำหรับการพัฒนาทักษะดิจิทัลทั่วไป และอีก 100% หลังสำหรับการพัฒนาทักษะดิจิทัลขั้นสูงในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล


 

 

บรรจุในหลักสูตรการศึกษา

2. ร่วมพัฒนาหลักสูตรกับมหาวิทยาลัยและกลุ่มเจ้าของเทคโนโลยีเน้นหลักสูตรระยะสั้น ผลักดันให้นำหลักสูตรดังกล่าวบรรจุลงในหลักสูตรการศึกษา ที่จะเริ่มจากการเป็นวิชาเลือกพิเศษก่อน 3.สนับสนุนการพัฒนาทักษะ/ สอบวัดระดับทักษะ ผ่านหน่วยงานเครือข่าย เน้นสาขา IoT, Data Science, AI, Robotics Programming และ Security

5.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับ Digital University เพื่อเป็นเครือข่ายการพัฒนากำลังคนดิจิทัล ทั้งในรูปแบบแพลตฟอร์ม และออฟไลน์โดยในปี 2563 จะมีการขยายผลโดยเพิ่ม Digital University กับ 2 สถาบัน ได้แก่ สถาบันอาชีวศึกษาในเขตอีอีซี ผลิตบุคลากรด้าน IoT และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์วิทยาเขตศรีราชาเน้นการผลิตคนด้าน Data Science

6. สนับสนุนการพัฒนานักศึกษา กลุ่มความสามารถโดดเด่น เพื่อเร่งป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงานทันทีโดยผู้ประกอบการร่วมพัฒนานักศึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการยกระดับและรับเข้าทำงาน

7. พัฒนาการจัดทำและอบรมหลักสูตรระยะสั้นและสอบรับรองมาตรฐาน รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรร่วม เป็นภาษาไทยเพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการสร้างกำลังคน โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยผู้นำเทคโนโลยี และผู้ประกอบการ

8. ส่งเสริมให้สถานศึกษานำหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาร่วมกับผู้นำทางเทคโนโลยีบรรจุในหลักสูตรปกติ

9. เร่งใช้ประโยชน์จากสถาบันวิชาการของผู้นำเทคโนโลยี เพื่อสร้างคนในระยะสั้น โดยประสานสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาผู้นำทางเทคโนโลยี (Academy) เช่น Huawei, Oracle, Google, Microsoft, Amazon Web Service (AWS) เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรและอบรมทักษะให้กับบุคลากร

 

เร่งมาตรการลดหย่อนภาษี

10. ผลักดันและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิการลดหย่อนภาษีของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน จาก 100% เป็น 200% โดยจะดำเนินการร่วมหรือเสริมการทำงานให้กับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยวางแนวทางเบื้องต้น ที่จะรวบรวมและขึ้นทะเบียนหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง เพื่อใช้ประกอบการขอรับสิทธิการลดหย่อนภาษี นำขึ้นระบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึง และเพิ่มช่องทางการยื่นขอลดหย่อนผ่านระบบออนไลน์

11. เร่งขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาทักษะที่ขาดแคลน โดยประสานกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ด้วยมาตรการลดหย่อนภาษี 200% ซึ่ง Depa จะรวบ รวมทักษะเทคโนโลยีที่ขาดแคลน ประกอบการขอรับสิทธิจากมาตรการดังกล่าว และผลักดันให้ผู้ประกอบการขึ้นทะเบียนส่วนกลาง เพื่อเชื่อมโยงสิทธิประโยชน์ในการพัฒนาบุคลากรดิจิทัลในอนาคต และ 12. จัดทำแพลตฟอร์มเพื่อการบริหารจัดการและการวางนโยบายด้านกำลังคนดิจิทัลในภาพรวมของประเทศ และติดสถานภาพอุปสงค์และอุปทานของตลาดแรงงานด้านดิจิทัล

 

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,520 วันที่ 7-9 พฤศจิกายน 2562