วิศวกรไทยแข่งต่างชาติ ชิงเค้กเมกะโปรเจ็กต์2ล้านล้าน

05 พ.ย. 2562 | 23:20 น.

ตลอด 8 ปีที่ผ่านมา ภาค รัฐลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งมีมูลค่ารวมสูงกว่า 1.947 ล้านล้านบาท ด้วยความสำคัญดังกล่าวสภาวิศวกร (COE) จัดงานเสวนา “โครงการเมกะโปรเจ็กต์ภาครัฐ วิศวกรไทยได้หรือเสีย”

 นายประเสริฐ ตปนียางกูร เลขาธิการสภาวิศวกร สะท้อนว่า จากการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐ สภาวิศวกรมองว่า ต้องยกระดับขีดความสามารถของวิศวกรไทยที่ต้องทำงานร่วมกับโครงการลงทุนระหว่างประเทศ เพราะขณะนี้โครงการที่กำลังจะผลักดันเศรษฐกิจของประเทศหลักๆ มาจากกระทรวงคมนาคม ในขณะที่มีวิศวกรไทยประมาณ 1.7 แสนคน ที่จะเข้ามาดูแล ยืนยันว่ามีความพร้อมทุกด้าน เพียงต้องการโอกาสเท่านั้น ซึ่งเราไม่ได้ปิดกั้นวิศวกรต่างประเทศ แต่อาจต้องเปิดช่องให้วิศวกรไทยที่มีศักยภาพเพียงพอเข้ามาทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่อีกครั้งหนึ่งด้วย

 ด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่หลายคนมองว่าเป็นปัญหาใหญ่ สาเหตุหลักมาจากการที่ยังไม่ได้หารืออย่างจริงจังกับทางภาครัฐ โดยเฉพาะการให้โอกาสวิศวกรไทยเข้ามาทำงานส่วนไหน เวลาใด โดยลำดับแรกทางภาครัฐต้องแจ้งก่อนว่า ต้องการบุคลากรอย่างไร

 นายวิทูร เจียมจิตต์ตรง นายกสมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย ขยายความการถ่ายเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อยากให้พิจารณาตัวอย่าง โครงการรถไฟฟ้าสายแรกๆ ของไทย เทคโนโลยีดังกล่าว วิศวกรไทยสามารถนำมาต่อยอดได้ ฉะนั้นรถไฟฟ้าความเร็วสูงก็เช่นกัน ควรมีการถ่ายทอดความเร็วสูงสู่วิศวกรไทย

วิศวกรไทยแข่งต่างชาติ  ชิงเค้กเมกะโปรเจ็กต์2ล้านล้าน

 “หากเราใช้วิศวกรไทย การใช้วัสดุก่อสร้างในไทยก็จะเกิดโอกาสตามมาด้วย ฉะนั้นการวางความสมดุลในการพัฒนาโครงการ จะช่วยเสริมอุตสาหกรรม อื่นๆ อาทิ อุตสาหกรรมก่อสร้างให้เติบโตเพิ่มขึ้นด้วย”

 ขณะนายวัลลภ รุ่งกิจวรเสถียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิศวกร และประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่าขณะนี้บริษัทดำเนินการสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วง ศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี โดยใน TOR ไม่เคยระบุ ต้องจ้างวิศวกรชาวต่างชาติ ปัจจุบันเรามีวิศวกรต่างชาติ 3 คน ไว้คอยแนะนำในการพัฒนาระบบ จากนั้นเราใช้วิศวกรไทย

 สอดคล้องกับนายศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ หัวหน้ากลุ่มมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐาน กรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ปัจจุบันทางการรถไฟฯ ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยล่าสุดงานโยธารถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ช่วงที่ 2 นครราชสีมา-หนองคาย เราได้จ้างบริษัทวิศวกรไทยเป็นที่ปรึกษา ฉะนั้นเรื่องของการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับวิศวกรไทยเราให้ความสำคัญมาโดยตลอด

 

 

นอกจากการมองหาโอกาสให้กับวิศวกรไทย การพัฒนาตลาดแรงงานก็สำคัญมากเช่นกัน เลขาธิการสภาวิศวกร ขยายความว่า ปัจจุบันได้มีการหารือกับสถาบันการศึกษาแล้ว เพื่อเตรียมการผลิตแรงงานให้ตรงตลาด ซึ่งมีการปรับหลักสูตรให้ตรงกับตลาดแรงงานปัจจุบัน โดยปรับระเบียบให้การรับรองหลักสูตรปริญญาแบบองค์ความรู้แทนรายวิชา ล่าสุดกรมการขนส่งทางราง ร่วมกับ สมาคมวิศวกรรมสถานฯ (วสท.)

 จัดอบรมหัวข้อต่างๆ ที่เกี่ยวกับระบบราง อย่างเช่นที่ผ่านมาในหัวข้อ การจัดการระบบราง โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปเรียนรู้กันได้ เปิดอบรมในทุกเดือน

 การพัฒนาที่ยั่งยืน นอกจากการตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้คุ้มค่าแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับทรัพยากรบุคคลโดยเฉพาะในมิติของการถ่าย ทอดความรู้และคงอยู่กับวิศวกรไทย เพื่อทำให้อนาคตการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยเติบโตเองจากฝีมือคนไทยด้วยกัน

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3519 ระหว่างวันที่ 3 - 6 พฤศจิกายน 2562